เมื่อ E-Wallet แข่งเดือด T2P จึงเลือกพัฒนาแพลตฟอร์ม “ชำระเงิน-ระบบสมาชิก” เจาะองค์กรแทน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแข่งขันของ E-Wallet นั้นดุเดือดมาก ผ่านการส่งโปรโมชั่นออกมาอย่างต่อเนื่องของหลายเจ้า ทำให้ T2P เจ้าของ E-Wallet ชื่อ Deep Pocket เลือกอีกทางคือส่งบริการนี้มาตอบโจทย์ฝั่งองค์กรโดยเฉพาะ

E Wallet
E-Wallet

ตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มช่วยเติบโตระยะยาว

ปัจจุบันผู้ให้บริการ E-Wallet ต่างส่งโปรโมชั่นออกมากระตุ้นการใช้งานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น True Money, Airpay หรืออื่นๆ ซึ่งโปรโมชั่นเหล่านั้นใช้เงินมหาศาล และยากที่ผู้เล่นรายใหม่ หรือผู้ให้บริการที่ไม่มีเงินทุนหนาไปแข่งขันได้ ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นของ T2P หนึ่งในผู้ให้บริการ E-Wallet และแพลตฟอร์มดูแลลูกค้าให้กับองค์กรต่างๆ

ทวีชัย ภูรีทิพย์ ประธานบริหาร บริษัท ทีทูพี จำกัด เล่าให้ฟังว่า แม้บริการ E-Wallet ต่างๆ จะเริ่มได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น แต่ในฝั่งองค์กรโดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก และร้านอาหารต่างก็ต้องการมีแพลตฟอร์มสำหรับดูแลลูกค้า และกระตุ้นให้พวกเขามาใช้งานเป็นประจำ ซึ่งตัว E-Wallet และแพลตฟอร์มสมาชิกแบบดิจิทัลตอบโจทย์ได้

T2P
ทวีชัย ภูรีทิพย์ ประธานบริหาร บริษัท ทีทูพี จำกัด

“T2P เริ่มจากทำ E-Wallet ในชื่อ Deep Pocket พร้อมกับรับงานให้กับองค์กรต่างๆ ในการทำ Solution เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นระบบสมาชิก, บัตรเงินสด หรืออื่นๆ ซึ่งอย่างหลังนั้นมีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างดี T2P จึงเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ผ่านการเข้าหาลูกค้ากลุ่มใหม่ รวมถึงขยายไปตลาดต่างประเทศ”

3,000 ล้านบาทที่บริหารจัดการภายใน T2P

สำหรับการรุกตลาด Solution เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเงินนั้น T2P ทำให้กลุ่มร้านอาหาร CRG, S&P, Samsung, dtac, ปตท. รวมถึงกลุ่มค้าปลีกในประเทศเมียนมาอย่าง CMHL ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบนั้นสูงถืง 3,000 ล้านบาทในปี 2561 และในจำนวนนี้คิดเป็นรายได้ 138 ล้านบาท

T2P
ลูกค้าที่ใช้บริการ T2P

“ในปีที่ผ่านมาเราเติบโตในแง่รายได้ถึง 5 เท่าตัวจากปีก่อน ซึ่งมันจะเป็นอย่างนี้ไม่ได้เลยถ้าเราไม่เดินหน้ารุกตลาด B2B2C หรือการทำแพลตฟอร์มการเงินให้กับองค์กรเพื่อให้องค์กรเหล่านั้นนำไปปรับใช้กับลูกค้าของเขา โดย Solution เหล่านั้นประกอบด้วย E-Wallet, Loyalty, AI Marketing Analytics และ Lending”

ทั้งนี้ตัว Lending หรือบริการปล่อยกู้รายย่อยนั้น T2P ได้ตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาในชื่อ Deep Spark เพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ และได้รับการลงทุนกว่า 9 แสนดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการทำตลาดนี้จะใช้ AI ในการช่วยวิเคราะห์เครดิตประกอบกับบริษัทที่มีข้อมูลด้านการซื้อสินค้า และบริการต่างๆ อยู่แล้ว ก็ทำให้การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก

T2P
การเติบโตของ T2P

บุกรายย่อยพร้อมให้ใช้แพลตฟอร์มนี้ฟรี

“ปี 2562 เรายังตั้งเป้าเติบโตเช่นเดิม แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเติบโตเป็น 5 เท่าเหมือนที่ทำได้เมื่อปี 2561 หรือไม่ แต่การเดินกลยุทธ์เปลี่ยนระบบดูแลลูกค้าจากกระดาษเป็นดิจิทัลของเราก็น่าจะช่วยให้ได้รับงานจากองค์กรต่างๆ มากขึ้น ยิ่งเรามีแผนรุกตลาดองค์กรขนาดกลางถึงเล็กด้วย มันก็ยิ่งเพิ่มแนวโน้มธุรกิจให้โตได้ดีขึ้น”

อย่างไรก็ตามยังไม่มีความชัดเจนในการนำ Solution เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเงินมาให้บริการกับองค์กรขนาดกลางถึงเล็ก แต่เบื้องต้น T2P จะให้พวกเขาที่สนใจเข้ามาใช้ได้ฟรี พร้อมกับสร้างรูปแบบการสร้างรายได้ใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งการทำเช่นนี้ก็น่าจะทำให้บริษัทมีแนวโน้มกำไรหลังก่อตั้งมาเมื่อปี 2554

T2P
บริการต่างๆ ชอง T2P

“เทรนด์ด้านการเงินของโลกนั้นเปลี่ยนเร็วมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เราเห็นคนเริ่มไม่ใช้เงินสดกันมากขึ้น ดังนั้นการทำระบบ Membership Card ของห้างร้านต่างๆ มันต้องเป็นได้มากกว่าแค่บัตรสมาชิก ซึ่งตรงนี้ T2P ตอบโจทย์ได้ ยิ่งเรามี Solution ที่ครบมือ มันก็ยิ่งสร้างความได้เปรียบในตลาดนี้เช่นกัน”

สรุป

เมื่อ E-Wallet ทุกเจ้าแข่งขันกันหนัก จึงไม่แปลกที่ T2P เลือกเดินหน้าทำ Solution การเงินให้ฝั่งองค์กรเต็มตัว และเหลือ Deep Pocket ไว้ตอบโจทย์กลุ่มเกมเมอร์เท่านั้น แต่หลังจากนี้ไปมันก็ไม่ง่ายที่ T2P จะรักษาลูกค้ากลุ่มเดิมๆ ไว้ได้ เพราะเมื่อคนอื่นรู้ว่าตลาดนี้เติบโต พวกเขาก็พร้อมเข้าลุย ดังนั้นต้องรอดูว่า T2P จะส่งอะไรใหม่ๆ เข้ามาตอบโจทย์องค์กรได้อีกหรือไม่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา