บมจ. ซินเน็ค (ประเทศไทย) หรือ Synnex คาดสิ้นปี 2024 ปิดรายได้เป็นสถิติใหม่ที่ 40,000 ล้านบาท เหตุ AI ช่วยกระตุ้นยอดคอมพิวเตอร์ พร้อมสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ช่วยจูงใจ เผยรายได้ดังกล่าวมาจากกลุ่มสินค้า Apple ถึง 15,000 ล้านบาท ส่วนภาครัฐยังไม่เบิกจ่ายไม่กระทบกับภาพรวมธุรกิจ
ซินเน็ค ปิดปี 2024 ที่ 40,000 ล้านบาท
สุธิดา มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซินเน็ค (ประเทศไทย) เล่าให้ฟังว่า หลังครึ่งแรกของปี 2024 ปิดรายได้ไปราว 19,000 ล้านบาท ทำให้ทั้งปี 2024 จะสามารถปิดรายได้แตะ 40,000 ล้านบาท ถือเป็นสถิติใหม่ของบริษัท เนื่องจากไตรมาส 3 และ 4 เป็นช่วงที่ยอดขายสินค้าดีกว่าไตรมาส 1 และ 2
“การเติบโตนี้มาจากหลายปัจจัย เช่น AI ที่เข้ามากระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคในการเปลี่ยนอุปกรณ์ทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ และสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ รวมถึงตัวสมาร์ตโฟนต่าง ๆ ที่ทำราคา กับสเปกออกมาจูงใจผู้บริโภคได้ดีขึ้น ซึ่งบริษัทเองเป็นตัวแทนจำหน่ายของสินค้าเหล่านั้นเช่นกัน”
สำหรับภาพรวมรายได้ในปี 2024 ที่คาดว่าจะปิดที่ 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็น Communication เช่น สินค้าโทรศัพท์มือถือ เกือบครึ่งหนึ่ง ตามด้วย Consumer เช่น คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ราว 30% กับ Commercial & Enterprise เช่น ระบบเน็ตเวิร์ก และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ อีกราว 20%
สินค้า Apple คือหนึ่งในตัวขับเคลื่อน
หากเจาะไปที่แบรนด์สินค้าจะพบว่า สินค้า Apple ที่ บมจ. ซินเน็ค (ประเทศไทย) เป็นตัวแทนจำหน่าย เช่น สมาร์ตโฟน, คอมพิวเตอร์ รวมถึงอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ จะทำรายได้ในปี 2024 ถึง 15,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้บริษัทในปี 2024
“Apple เราโตค่อนข้างเยอะ ไม่ใช่แค่ iPhone 16 Series ที่ขายให้ดีลเลอร์ที่เข้ามาซื้อสินค้ากับเราหมดภายใน 15 นาทีแรก และมีการคอนเฟิร์มคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อีกพาร์ตที่สำคัญคือการศึกษา เพราะเราเข้าไปช่วยในการจำหน่ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กับสถาบันที่สนใจด้วย”
ปัจจุบันในปีประเทศไทยมีผู้ซื้อสินค้าตรงกับ Apple ประกอบด้วย บมจ. ซินเน็ค (ประเทศไทย), บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด, บมจ. คอมเซเว่น และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 2 บริษัทใหญ่ โดย บมจ. ซินเน็ค (ประเทศไทย) จะจำหน่ายสินค้าต่อไปที่ iStudio และหน้าร้านค้าปลีกไอที เป็นหลัก
ไม่หวั่นภาครัฐไม่เบิกจ่าย
สุธิดา ย้ำว่า ในปี 2024 บริษัทไม่ได้พึ่งพารายได้จากการเข้าโครงการของภาครัฐมากนัก เนื่องจากการเบิกจ่ายของหน่วยงานต่าง ๆ ยังทำได้ไม่เต็มที่ และต้องรอปี 2025 ถึงจะเริ่มเข้าไปทำตลาดมากขึ้น เพราะการเบิกจ่ายในเวลานั้นน่าจะดีขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตามภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2024 ยังไม่ดีนัก สังเกตจากหากสินค้าไม่สามารถจูงใจผู้บริโภคได้จริง พวกเขายังชะลอการจับจ่ายอยู่ แต่ด้วยสินค้ากลุ่มไอทีที่เริ่มถึงช่วงการเปลี่ยนรอบ โดยเฉพาะกลุ่มที่ซื้อในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด เมื่อรวมกับ AI ที่เก่งมากขึ้น ทำให้ช่วงไตรมาส 3 และ 4 จะมีการตัดสินใจซื้อมากขึ้น
ส่วนในฝั่งสินค้าสมาร์ตโฟนจากประเทศจีน บมจ. ซินเน็ค (ประเทศไทย) เป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ Huawei และอื่น ๆ โดยเฉพาะกับ Huawei ที่เริ่มมีทิศทางการจำหน่ายที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกับรุ่น Pura ที่เป็นรุ่นเรือธง ที่แม้จะไม่ได้ทำตลาดมากนัก แต่สินค้ายังจำหน่ายไปได้ดี แสดงให้เห็นถึงความเชื่อใจของผู้บริโภคในสินค้าแบรนด์จีนมากขึ้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา