ทำไม Swensen’s ต้องมาขายไอศกรีมแท่ง

ปกติแล้วหากนึกถึง Swensen’s ก็จะมีภาพร้านไอศกรีมที่มีให้เลือกหลากหลายรสชาติ และนั่งรับประทานภายใต้บรรยากาศอเมริกันยุคเก่า แต่จากนี้ภาพเหล่านั้นอาจเปลี่ยนไป เพราะล่าสุด Swensen’s จำหน่ายไอศกรีมแท่งแล้ว

Swensen's
ไอศกรีมแท่งของ Swensen’s

รุกมากกว่าไอศกรีมพรีเมียม

เมื่อปี 2560 ภาพรวมตลาดไอศกรีมในประเทศไทยมีมูลค่าราว 15,000 ล้านบาท และเติบโตเล็กน้อยมาหลายปี โดยตลาดนี้แบ่งออกมาเป็น 2 กลุ่มคือ ไอศกรีมทั่วไป เช่นไอศกรีมที่ขายตามตู้ในร้านค้าปลีกต่างๆ เป็น 80% ของมูลค่านี้ ส่วนที่เหลือเป็นไอศกรีมพรีเมียม และกลุ่มร้านไอศกรีมอีก 20%

แม้ว่าถ้าเทียบอัตราการเติบโตแล้ว กลุ่มไอศกรีมพรีเมียมจะมีอัตราการเติบโตที่มากกว่าไอศกรีมทั่วไปค่อนข้างมาก เพราะรับกับเทรนด์รับประทานของหวานในยุคนี้ได้ดีกว่า แต่ล่าสุด Swensen’s ก็เลือกบุกตลาดไอศกรีมทั่วไปด้วยการวางจำหน่ายไอศกรีมแท่ง เริ่มจากวางสินค้านี้ในตู้แช่เค้กไอศกรีมด้านหน้าร้านตั้งแต่ต้นเดือนม.ค. 2563

ไอศกรีม
ภาพ // pexels

ถึงตอนนี้ไอศกรีมแท่งของ Swensen’s ก็มีทั้งหมด 3 รสชาติ ประกอบด้วยรสวนิลา, มอคค่า และคุกกี้แอนด์ครีม ราคา 49 กับ 59 บาท เรียกว่าราคาใกล้เคียงกับไอศกรีมที่แพงที่สุดของ Walls อย่าง Magnum ที่จำหน่าย 40-60 บาท ถือเป็นความท้าทายใหม่ของ Swensen’s ที่ปัจจุบันเป็นผู้นำในกลุ่มพรีเมียมที่จะเข้าไปแข่งในตลาดทั่วไป

ไม่ต้องอยู่ที่ร้านก็สามารถขายได้

หากจะว่าถึงเหตุผลที่ Swensen’s ทำตลาดไอศกรีมแท่งออกมาก็น่าจะมาจากอยากเพิ่มโอกาสสร้างรายได้จากการรับประทานนอกร้านมากขึ้น เพราะตอนนี้ผู้บริโภคมีความรีบเร่ง บางครั้งก็ไม่ได้อยากเข้าร้าน คล้ายกับกรณีก่อนหน้านี้ที่ร้านอาหารหลายแบรนด์หันมาจำหน่ายชาไข่มุก ที่ทั้งเกาะกระแส และทำเงินโดยลูกค้าไม่ต้องรับประทานที่ร้าน

Swensen's
บรรยากาศของร้าน Swensen’s // ภาพจาก Facebook ของ Swensen’s

สำหรับรายได้ของ Swensen’s ที่ไม่ได้มาจากการรับประทานในร้านก็มีทั้งการขายไอศกรีมเป็นควอทตามร้านค้าปลีกต่างๆ, การจำหน่ายเค้กไอศกรีม, การจำหน่ายไอศกรีมแบบตักแบบ Scoop และการส่งไอศกรีมถึงบ้าน ยิ่งเพิ่มตัวไอศกรีมแท่งเข้าไปมันก็ยิ่งเพิ่มสัดส่วนรายได้ของการรับประทานนอกร้านขึ้นโดยอัตโนมัติ

ขณะเดียวกันการสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกของ Swensen’s เนื่องจากที่ผ่านมาก็มีการใช้กลยุทธ์ไอศกรีมรสชาติตามเทศกาล ที่มักจะมีรสชาติใหม่ๆ ออกมาเสมอ รวมถึงช่วงที่ “บิงซู” กำลังได้รับความนิยมในไทย Swensen’s ก็มีการทำตลาดขนมดังกล่าวในร้านเช่นกัน

ต่อยอดสู่ตลาดแมสอย่างเป็นทางการ

เชื่อว่าการทำตลาดไอศกรีมแท่งของ Swensen’s เป็นการทดลองตลาดเพื่อวัดผลว่าผู้บริโภคมองสินค้าตัวนี้อย่างไร และราคาเหมาะสมหรือไม่เป็นต้น หากผลลัพธ์ออกมาดี ก็มีความเป็นไปได้ที่ Swensen’s จะรุกตลาดนี้อย่างจริงจัง ผ่านการวางจำหน่ายในร้านค้าปลีกเต็มรูปแบบ

จากจุดนี้เองพิสูจน์ให้เห็นว่า ถึง Swensen’s จะค่อนข้างแข็งแกร่งในตลาดไอศกรีมระดับพรีเมียม ผ่านสาขาทั่วประเทศไทยกว่า 300 แห่ง และมีจุดดึงดูดให้ลูกค้าทั้งบรรยากาศ, รสชาติหลากหลาย และงานบริการที่มีมาตรฐาน แต่ก็พร้อมก้าวเข้าไปสู่ตลาดใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ตัวเองเสมอ

ไอศกรีม
ภาพ pexels

เมื่อเห็นอย่างนี้แล้วคู่แข่งในกลุ่มไอศกรีมพรีเมียมก็ต้องมีขยับตัวกันบ้าง เช่น Cold Stone ที่ปรับลดราคาสินค้าเพื่อแข่งขันได้มากขึ้น ส่วนไอศกรีมทั่วไปก็คงเตรียมรับมือหาก Swensen’s เริ่มวางขายไอศกรีมแท่งนอกร้านตัวเอง และตลาดนี้ก็คงแข่งขันแบบทวีคูณขึ้นไปอีก เพราะถ้าลองไปดูตู้แช่ไอศกรีมในร้านสะดวกซื้อก็คงเห็นว่ามันเยอะแค่ไหน

สรุป

ส่วนตัวที่ลองชิมแล้วก็รสชาติเหมือนกับไอศกรีม Swensen’s ที่กินในร้าน และราคาก็ไม่ได้สูงจนเกินรับไหว ดังนั้นหาก Swensen’s จะเพิ่มช่องทางรายได้ใหม่ด้วยวิธีนี้ก็คงมีประสิทธิภาพสูงพอควร และมันเป็นการปลดล็อคจากจำหน่ายไอศกรีมแบบ Scoop ใส่โคนที่ขายได้แค่หน้าร้านให้คนที่ไม่สะดวกกินในร้านได้อีกด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา