เปิดเคล็ดลับปรับธุรกิจอย่างไรให้อยู่รอดในยุคโควิดครองเมือง

“วิกฤตจะเปิดประตูสู่โอกาสและการพัฒนาครั้งใหญ่ ดังนั้น อย่าปล่อยให้วิกฤตสูญเปล่า”

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยได้รับผลกระทบกันเป็นจำนวนมาก

คำถามคือ ในฐานะผู้ประกอบการ เราจะหาทางรอดเพื่อยืนหยัดอยู่ได้ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ได้อย่างไร

Survival Plan สำหรับธุรกิจ

ลบภาพวิธีดำเนินธุรกิจในช่วงสถานการณ์ปกติออกไปก่อน

นับตั้งแต่วิกฤตโควิดโหมสร้างปัญหาไปทั่ว เราไม่สามารถใช้วิธีคิดแบบเดิมๆ ในการดำเนินธุรกิจแล้ว

ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำไม่ใช่แค่ลดเวลาเปิดร้าน ลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาด หรือลดเงินเดือนพนักงาน เพราะเราอาจต้องตัดสินใจเปลี่ยนวิธีดำเนินธุรกิจเกือบทั้งหมดเลยทีเดียว และถ้าเราตัดสินใจช้า ค่อยๆ เปลี่ยนทีละเรื่อง ธุรกิจก็อาจต้องปิดตัวลงเสียก่อน

1. ปรับแผนให้เร็วและฟังเสียงของลูกค้ามากขึ้น

ในสถานการณ์ปัจจุบัน เราจำเป็นต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจให้ยืดหยุ่นขึ้น โดยเราสามารถขอฟีดแบคจากลูกค้า เพื่อนำความคิดเห็นเหล่านั้นมาต่อยอดธุรกิจ แล้วถ้าไอเดียถูกนำมาใช้จริงลูกค้าก็จะรู้สึกประทับใจที่เรารับฟังเสียงของพวกเขา

นอกจากนั้น เราสามารถให้พนักงานมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องปรึกษาหารือกันในฝ่ายบริหารอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมา “พนักงานก็คือคนที่ใกล้ชิดกับลูกค้ามากที่สุด”

2. ยอมรับว่าต้องมีการตัดสินใจที่ยากลำบาก

ด้วยสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เราจำเป็นต้องตัดสินใจในเรื่องยากๆ เช่น เราอาจไม่สามารถให้บริการลูกค้าที่ไม่สามารถจ่ายเป็นเงินสดได้ก่อน เราอาจต้องเลิกผลิตสินค้าบางประเภท หรือเราอาจต้องปลดพนักงานบางกลุ่มออก

แต่ถ้าธุรกิจกลับมาดีขึ้นเมื่อไหร่ เราก็สามารถกลับมาบริการลูกค้าบางราย กลับมาขายสินค้าบางประเภท และกลับมาจ้างงานพนักงานกลุ่มที่เคยออกไปได้เช่นเดียวกัน 

3. การสื่อสารกับพนักงานคือสิ่งจำเป็น

เราควรแบ่งเวลามาพูดคุยกับพนักงานกลุ่มต่างๆ ทั้งพนักงานที่ถูกปลด พนักงานที่ต้องพักงานชั่วคราว และพนักงานที่ต้องลดเวลาทำงานลง ซึ่งถ้ามีพนักงานไม่มากเราอาจขอพูดคุยกับพวกเขาแบบตัวต่อตัว เผื่อเราสามารถช่วยเหลือพวกเขาเพิ่มเติมได้ในเรื่องอื่นๆ 

จากนั้นให้เรานัดประชุมกับพนักงานที่เหลืออยู่เพื่อแจ้งให้ทราบถึงแผนการดำเนินธุรกิจต่อไป โดยเราอาจเสริมว่าถ้าเป็นไปได้จะไม่ลดจำนวนพนักงานอีก พวกเขาจะได้รู้สึกมั่นคงและสบายใจมากขึ้น นอกจากนั้นก็ควรเปิดช่วงให้พนักงานถามทุกข้อสงสัยคาใจ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่อย่างแท้จริง

4. ถ้ายังดูแลลูกค้าดี ก็พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้

ตัวอย่างเช่น ช่วงที่โควิดระบาดแรกๆ คนส่วนใหญ่มักแคนเซิลโรงแรมที่จองไว้ โรงแรมในเครือ Marriot ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับกลับพิเศษมาก คือลูกค้าจะได้รับอีเมลจากซีอีโอของ Marriot เพื่อแจ้งว่า ลูกค้าทุกคนจะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน ทำให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจ และมีโอกาสกลับมาพักที่โรงแรมในเครือ Marriot อีกครั้งเมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ 

10 ข้อที่ SME ควรรู้เพื่อสู้ศึกธุรกิจปี 2021

การบริหารเงิน 4 แบบที่ควรวางแผนไว้

1. เขียนจำนวนเงินสดที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละเดือนออกมา

2. วางแผนว่าจะหาเงินทุนก้อนใหม่มาจากไหนเพื่อใช้ในช่วงวิกฤต 

3. เขียนงบกำไรขาดทุนในช่วงปัจจุบันออกมาให้ละเอียดชัดเจน

4. กำหนดว่าถ้ามีเงินสำรองเพียงพอแล้วจะนำไปจ่ายค่าอะไรเป็นอย่างแรกที่สำคัญที่สุด

ยิ่งทำข้อมูลส่วนนี้ได้ละเอียดเท่าไหร่ เราก็จะสามารถตัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ซึ่งเราควรทำแผนนี้สำหรับระยะเวลาอย่างต่ำ 12 เดือน พร้อมกับลองทำแผนสำรองสำหรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุด และสถานการณ์ดีที่สุดซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 

ที่สำคัญ พนักงานก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ โดยให้พนักงานลองส่งไอเดียเพิ่มยอดขายและลดรายจ่ายของธุรกิจลง ถ้าไอเดียไหนน่านำมาใช้จริง เราก็ควรให้รางวัลตอบแทนกับพนักงานที่เป็นเจ้าของไอเดียด้วย 

นอกจากนั้น ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่เราควรคิด เช่น มีซัพพลายเออร์เจ้าใหม่ที่ช่วยให้ต้นทุนลดลงไหม, มีสินค้าไหนที่ขายไม่ดีแล้วควรตัดออกไปหรือเปล่า, ควรปรับเวลาเปิดปิดร้านเป็นเมื่อไหร่เพื่อประหยัดค่าน้ำค่าไฟมากขึ้น, ควรลดต้นทุนค่าโฆษณาลงเท่าไหร่ เป็นต้น

สิ่งที่เราควรทบทวนอีกครั้งในการทำธุรกิจ

  • เรามีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิดหรือเปล่า
  • ลูกค้าคนสำคัญของธุรกิจเราคือใคร พวกเขาชอบซื้ออะไร และเราจะรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้ากลุ่มนี้ต่อไปอย่างไรได้บ้าง
  • สินค้าของเราแตกต่างและให้คุณค่าลูกค้ามากกว่าคู่แข่งหรือยัง
Photo by Jenny Miller on Unsplash

กรณีศึกษา: การปรับตัวของธุรกิจให้เช่าจักรยาน Bob’s Rent-A-Bike

สถานการณ์ของธุรกิจ Bob’s Rent-A-Bike ในช่วงโควิดยอดขายตกลงไป 30% ทางผู้บริหารต้องควักเงินส่วนตัวออกมาบริหารธุรกิจต่อ และหากยอดขายตกลงไป 50% ธุรกิจจะสูญเสียเงินอย่างรวดเร็ว จนอาจล้มละลายลงได้ในที่สุด เพราะยังมีหนี้อีกมากที่ต้องชำระ

ทาง Bob’s Rent-A-Bike จึงปรับแผนธุรกิจดังนี้

  • ลดราคาค่าเช่าจักรยานลง เพื่อให้ลูกค้าอยากเช่าจักรยานหลายวันติดต่อกันมากขึ้น
  • เปิดให้มีบริการซ่อมจักรยาน เพราะแม้ยอดขายจักรยานจะลดลง แต่ทางร้านก็เปิดตลาดใหม่เพื่อให้คนที่มีจักรยานอยู่แล้วมาใช้บริการได้ 
  • ขายจักรยานในคลังออกไป 30% ด้วยราคาทุนหรือต่ำกว่าทุนหากจำเป็น

แต่อย่าลืมว่า: การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง รัฐบาลเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญ

แต่ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าผู้ประกอบการจะพยายามต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจเท่าไหร่ก็ตาม สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือความช่วยเหลือจากรัฐบาล

ตัวอย่างจากสหรัฐอเมริกามีให้เห็น ในยุคของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ได้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือร้านอาหารมูลค่า 2.86 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด โดยธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์จะได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุดถึง 10 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้จะช่วยเหลือร้านอาหารได้กว่า 100,000 แห่งในประเทศเลยทีเดียว

ตัดภาพกลับมามองที่ประเทศไทย ก็น่าสนใจว่ารัฐบาลไทยอาจใช้วิธีการนี้ช่วยสนับสนุนธุรกิจ โดยเฉพาะขนาดเล็ก รายยอ่ย รวมไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาได้เช่นเดียวกัน

โดยสรุป

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดถือเป็นโจทย์ยากสำหรับผู้ประกอบการทั้งประเทศ ดังนั้น การคิดวิเคราะห์ธุรกิจอย่างละเอียด และการปรับเปลี่ยนแผนอย่างรวดเร็วจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญ

Brand Inside จึงขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกท่านต่อสู้เพื่อผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

ที่มา : businesstown, HBSedu, CNN

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา