เจาะพฤติกรรมทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย จะช้อปปิ้งผ่านโซเชียล ธนาคารไหนฮอตที่สุด

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ร้านค้าโซเชียลเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และได้รับความนิยมจากผู้ซื้อด้วย เดิมโอนเงินไปก่อน แล้วรอผู้ขายส่งสินค้ามาให้โดยไม่กลัวการโกง อาศัยการบอกต่อและความเชื่อใจเป็นหลัก

แต่ตอนนี้ การโอนเงินทำกันได้ง่ายๆ ผ่าน Mobile Banking ยิ่งมี PromptPay โอนกันได้ไม่เสียค่าธรรมเนียม พฤติกรรมการซื้อการขายของร้านค้าโซเชียลจะเป็นอย่างไร Page365 ได้ทำการสำรวจอย่างน่าสนใจ

เก็บข้อมูลจริงจากการซื้อขายบนโลกโซเชียล

ฬุศรันย์ ศิลป์ศรีกุล CEO ของ Page365 บอกว่า Page365 เป็นระบบให้บริการพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์แบบครบวงจร เช่น การจัดการคำสั่งซื้อ การเก็บข้อมูลลูกค้า การจัดส่ง รวมถึงสถิติและข้อมูลต่าๆ เพื่อให้ทำการค้าได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า

  • สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังคงขายดีเป็นปกติ โดยมีสัดส่วนการซื้อ 13%
  • สินค้าแฟชั่นผู้หญิง และสินค้าแม่และเด็ก ได้รับความนิยมทางออนไลน์ มีสัดส่วน 13.5% และมูลค่าก็ไม่น้อยด้วย
  • สินค้าแฟชั่นผู้ชาย ที่หลายคนเข้าใจว่าซื้อแพง แท้จริงแล้ว ซื้อไม่บ่อยสัดส่วน 4% และมูลค่าก็ถูกกว่าด้วย

KBank นำมา SCB ท้าทาย KTB จับข้าราชการ BBL ยังติดโผ

สำหรับข้อมูลบัญชีธนาคารที่ร้านค้าออนไลน์โซเชียลนิยมมากที่สุดคือ อันดับ 1 คือ KBank ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว อันดับ 2 คือ SCB และเป็นธนาคารที่มียอดโอนเงินเฉลี่ยสูงที่สุด อันดับ 3 คือ KTB หรือ กรุงไทย และถ้าร้านค้าไหนต้องการลูกค้ากลุ่มราชการ นี่คือธนาคารที่ควรมีเปิดไว้ อันดับ 4 คือ BBL หรือ กรุงเทพ

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต มียอดจ่ายเฉลี่ย 1,800 บาทต่อครั้ง สูงกว่าการโอนเงิน แสดงว่า ถ้ามีสินค้าราคาสูง การรับชำระด้วยบัตรเครดิตทำให้มีโอกาสขายได้มากกว่า

ร้านค้าต้องรู้ คนไทยไม่ชอบเสียค่าธรรมเนียม

นอกจากนี้จากการสำรวจร้านค้าโซเชียลพบว่า ส่วนใหญ่มีบัญชีธนาคาร 3-4 บัญชีเพื่อรอรับชำระเงินจากผู้ซื้อ ซึ่งถือว่าครอบคลุมบัญชีธนาคารของคนส่วนใหญ่ หรืออีกทางหนึ่งคือ มีบริการ PromptPay ที่สามารถรับชำระเงินได้จากทุกธนาคารโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม กรณีที่สินค้าราคาต่ำกว่า 5,000 บาท

ข้อเสนอแนะต่อร้านค้าโซเชียล

  • รีบเปิดบัญชี PromptPay เพื่อรับโอนเงินจากลูกค้าโดนไม่เสียค่าธรรมเนียมไม่ว่าจะมาจากธนาคารอะไร มั่นใจในความปลอดภัย เพราะ PromptPay มีไว้เพื่อรับเงินอย่างเดียว
  • ถ้ามีสินค้าราคาสูง เปิดบริการบัตรเครดิต ผู้ซื้อจะชอบเพราะไม่ต้องจ่ายเงินทันที แต่รอรอบบิลบัตรเครดิตได้
  • จากสถิติช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนครั้งที่มีการซื้อขายไม่ลดลง แต่มูลค่าการซื้อขายลดลง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไม่ดี โดยการซื้อขายผ่าน โซเชียล เฉลี่ยลดลงจาก 1,200 เหลือ 1,000 บาท
  • ดังนั้น ร้านค้าอาจใช้กลยุทธ์ปรับลดขนาดหรือปริมาณ เพื่อลดราคาลง ทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจง่ายขึ้น

สำหรับเรื่องภาษีนั้น ไม่ต้องกังวล เพราะการใช้ PromptPay หรือการโอนเงินผ่านธนาคาร มีความเสี่ยงเท่ากัน เพราะภาครัฐมีวิธีการล่อซื้อและขอใบกำกับภาษี ถ้าไม่มี กรมสรรพากรสามารถนำเลขที่บัญชี ไปขอหมายศาลเพื่อตรวจสอบการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มได้อยู่แล้ว ดังนั้นการทำให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็นทางที่ดีกว่า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา