1 ใน 5 ของผู้หญิงที่แต่งงานแล้วในจีนระบุว่า ปีที่ผ่านมาไม่มีความสุขกับชีวิตแต่งงาน ความรุนแรงในครอบครัวก็เพิ่มขึ้น ความรับผิดชอบในครัวเรือนก็ไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและไม่มีความสุขในชีวิตคู่
Liu Fang หญิงสาวชาวจีนวัย 38 ปี พิมพ์ข้อความบน Weibo ว่า สิ่งที่ทำให้เธอเสียใจมากที่สุดในชีวิตก็คือการแต่งงานและการมีลูก สิ่งที่ Liu พิมพ์ไว้ตรงใจผู้หญิงที่แต่งงานและใช้ชีวิตในจีนอีกเป็นจำนวนมาก Liu บอกว่า เธอแต่งงานมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว มีลูกชาย 1 คน อายุ 6 ขวบ เธอเคยคิดว่าถ้าเธอแต่งงานความสุขจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า แต่เปล่าเลยความสุขไม่ได้มากขนาดนั้น
นอกจากนี้ เธอคิดว่าเธอมีภาระเพิ่มขึ้น 3 เท่า มีทั้งงานออฟฟิศที่ต้องแบกรับและยังมีงานบ้านและงานเลี้ยงเด็กที่ต้องรับผิดชอบด้วย เธอคิดแต่จะหย่าตลอดเวลา เธอต้องคอยดูแลลูก ดูแลงานบ้าน และยังต้องพยายามทำงานให้สำเร็จ แถมยังมีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นด้วย
ผลสำรวจนี้จัดทำขึ้นโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ, ไปรษณีย์จีน และ National School of Development มหาวิทยาลัยปักกิ่ง สำรวจทั่วจีนราว 100,000 ครัวเรือน จีนมีการหย่าร้างเพิ่มขึ้นและมีการแต่งงานลดลงมากกว่าทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการหย่าร้างในช่วงปี 2009 มีมากกว่า 20% แต่ในปี 2019 มีการหย่าร้างมากถึง 50% ขณะที่ปี 2020 มีการหย่าร้างที่ลดลงหลังโควิดระบาด แต่ก็ยังเป็นอัตราที่สูงอยู่ดีเพราะมีมากกว่า 45%
ส่วนมากผู้หญิงจะเป็นฝ่ายเริ่มที่จะเลิกราก่อน ข้อมูลจากศาลประชาชนสูงสุดพบว่า กว่า 73% มีคดีหย่าเกิดขึ้นในศาลทั่วจีนในปี 2017 นอกจากนี้ อัตราการหย่าร้างก็เพิ่มขึ้น เมื่อช่วงปีใหม่ 1 มกราคม 2021 ที่ผ่านมา กว่าที่คนจะหย่าร้างกันได้ ยังต้องมีกระบวนการ “cooling off period” หรือการทำให้บรรยากาศความขัดแย้งลดลงก่อน หมายความว่าจะก่อนจะหย่าต้องรอให้เวลาผ่านไปราว 30 วัน ถึงจะสามารถแยกทางกันได้ (มีกระบวนการนี้ขึ้นมาก็เผื่อจะทำให้การหย่ายากขึ้น คนปรับความเข้าใจและตัดสินใจไม่หย่ากันในที่สุด) ช่วงปลายปี 2020 กฎหมายฉบับนี้ยังไม่บังคับใช้ ส่งผลให้คนเร่งหย่าร้างเร็วมากขึ้น เพราะผู้คนหลีกเลี่ยงที่จะต้องติดกับผ่านกฎหมายฉบับนี้ที่ทำให้ต้องรอไปอีก 1 เดือน
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจจาก CCTV เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้ชายชาวจีนกล่าวว่าพวกเขาก็รับผิดชอบงานบ้านก่อนที่จะแต่งงานเกือบ 47% เปรียบเทียบกับผู้หญิงอยู่ที่ 46% แต่หลังจากแต่งงานพบว่า ผู้ชายรับผิดชอบงานบ้านราวกว่า 46% ขณะที่ผู้หญิงกว่า 48% เรียกได้ว่ามีอัตราที่ห่างกันนิดเดียวเท่านั้น เรื่องนี้ Zhu Nan นักวิจัยหลังปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมาเก๊า สาขาจิตวิทยา ระบุว่า เหตุผลที่ทำให้เป็นช่องว่างระหว่างสามีและภรรยาอาจจะเป็นเรื่องที่ผู้ชายผู้เป็นสามีแบ่งงานกันทำในบ้านกับภรรยาแบบไม่เป็นธรรม นี่เป็นประเด็นใหญ่ เป็นประเด็นระดับโลก
จากการศึกษาวิจัยสังคมส่วนใหญ่ มันเป็นเรื่องของการแบ่งงานการทำภาระในครัวเรือนที่ไม่ได้สัดส่วน ไม่เป็นธรรม ไม่เท่าเทียมและโดยมากมักจะเกิดกับผู้ชาย ด้วยเหตุนี้ มันจึงทำให้เกิดความไม่พอใจในสถานะสมรสระหว่างที่ครองคู่กันอยู่ ผลสำรวจจาก CCTV อาจมีระเบียบวิจัยที่ไม่เข้มข้นมากพอเมื่อเทียบกับงานศึกษาทางวิชาการและอาจจะไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง
ผลการศึกษาจาก Pew Research พบว่า ในสหรัฐอเมริกา ผู้ชายที่แต่งงานแล้วในอัตรา 51% ระบุว่า พวกเขาพอใจวิถีการแบ่งงานกันทำในครอบครัวของพวกเขาเอง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมีเพียง 40% เท่านั้นที่พอใจ
ผู้ชายที่แต่งงานแล้วและมีสถานะเป็นพ่อ 56% ระบุว่า พวกเขาพอใจมากในวิถีการเลี้ยงดูลูกของคู่รักของเขา เปรียบเทียบกับผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและมีสถานะแม่ พอใจแค่เพียง 42% เท่านั้น
Huang Yuqin อาจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยตะวันออกจีน สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่า ผู้หญิงที่มีสถานะเป็นภรรยาในจีนมีภาระงานที่หนักมาก ต้องดูแลทั้งงานในบ้านและดูแลการศึกษาให้ลูกด้วย ผู้หญิงชาวจีนที่เป็นแรงงานมีอัตราที่สูงมากกว่า 60% ถือว่าอยู่ในอันดับที่สูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก คนที่อยู่ในสถานะแม่หลายคนต้องทำงานไปด้วย ภรรยาชาวจีนเหล่านี้ต้องทุ่มเทเวลาให้กับครอบครัวมากกว่าที่สามีทำ เมื่อความรับผิดชอบไม่เท่ากัน ความไม่พอใจย่อมเกิดขึ้น
ผลสำรวจจาก CCTV พบว่า ผู้หญิงช่วงวัย 36-45 ปีไม่มีความสุขมากที่สุดในการใช้ชีวิตคู่ Huang ระบุว่า มันอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตเหนื่อยที่สุด สื่อรายงานถึงการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและหลายกรณีมีเหตุฆาตกรรมที่สามีกระทำต่อภรรยา
ในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2016 ถึงปี 2019 จีนบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการใช้ความรุนแรงในครอบครัว สื่อรายงานว่า มีอย่างน้อย 942 คนเสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัว
การใช้ความรุนแรงในครอบครัว 525 กรณี มีการศึกษาพบว่า 85% ของเหยื่อที่ถูกกระทำคือผู้หญิง ส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 18-60 ปี หมายความว่า ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วส่นใหญ่ได้รับผลกระทบหนักจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ข้อมูลจาก NGOs ระบุว่า หลายกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว แต่ไม่ได้ถูกนับรวมไว้กับตัวเลขของทางการ เพราะเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ด้อยพัฒนา
Hou Hongbin นักเขียนแนวเฟมินิสต์กล่าวว่า รัฐสั่งห้ามรับของขวัญจากครอบครัวฝั่งเจ้าบ่าว แต่ฝั่งเจ้าสาวยังต้องให้ของขวัญฝั่งเจ้าบ่าวอยู่ เวลาเกิดความรุนแรงในครอบครัว บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐก็มักจะให้อภัยพฤติกรรมฝ่ายชายเสมอ ผู้หญิงต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันมากขึ้น หลังจากที่รัฐยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวในปี 2015 และให้แต่ละครอบครัวมีลูกสองคนได้เพราะกังวลเรื่องประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้หญิงก็อาจจะหลีกเลี่ยงการแต่งงานถ้าเธอไม่อยากมีลูก
ด้าน Zhu นักวิจัยทางจิตวิทยา กล่าวว่า ความจริงก็คือ ภรรยามีความสุขน้อยกว่า ควรจะมีการประเมินแนวคิดทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการให้คุณค่าเรื่องการแต่งงานใหม่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงควรจะแบ่งความรับผิดชอบงานบ้านกันอย่างละครึ่ง ผู้คนเริ่มคิดว่าไม่จำเป็นต้องแต่งงานก็ได้
นอกจากนี้ Liu Fang ผู้ที่อยู่ทั้งในสถานะภรรยาและแม่กำลังไม่มีความสุขในชีวิตครอบครัว เธอบอกว่า เพื่อนเธอหลายคนยังโสดอยู่และก็ดูจะมีชีวิตชีวาที่ดีกว่าเธอเสียอีก เธอบอกว่า เธออิจฉาพวกเพื่อนของเธอมาก พวกเธอมีชีวิตเป็นของตัวเอง มีเวลาพักผ่อนของตัวเอง มีการพัฒนาเส้นทางอาชีพของตัวเองได้ด้วย บางทีเธอก็คิดว่า เมื่อลูกชายของเธอโตมากขึ้นกว่านี้ เธอก็อาจจะเลือกที่จะเป็นโสดอย่างเพื่อนของเธอบ้าง
- ตัวคนเดียวก็สุขได้: นักวิจัยพบ ผู้หญิงโสดมีความสุขในชีวิต-อายุยืนกว่าผู้หญิงที่แต่งงาน
- จีนมีเด็กเกิดน้อยลงเกือบ 15% แรงงานลด คนจีนเสี่ยงตกอยู่ในภาวะแก่ก่อนรวย
ที่มา – SCMP
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา