HR เกือบ 100% บอกองค์กรเราวัฒนธรรมดี แต่พนักงานส่วนใหญ่บอก ไม่จริง

ยุคโรคระบาดครองเมือง ถือเป็นยุคแห่งความท้าทายทุกอุปสรรคถาโถม ไม่ว่าจะในระดับประเทศชาติ องค์กร หรือตัวบุคคล ผลสำรวจล่าสุดที่จัดทำโดย Society for Human Resource Management (SHRM) ในประเด็นที่พูดถึงวัฒนธรรมองค์กรกระทบต่อคนทำงานชาวอเมริกันอย่างไรบ้างในช่วงที่โควิดระบาดตั้งแต่แรกเริ่ม ปรากฎว่าผลลัพธ์ออกมาน่าสนใจ และแตกต่างกันทั้งในมุมมองของระดับผู้บริหาร ผู้จัดการ รวมทั้งคนทำงานด้วย

โควิดพ่นพิษหนัก วัฒนธรรมองค์กรป่วน มีแนวโน้มแย่ลงกว่าเดิม

ผลลัพธ์จากผลสำรวจที่น่าสนใจมีดังนี้ ประเด็นแรกคือเรื่องการจัดการ เกือบ 100% ของคนทำงานในส่วนของ HR หรือในหน่วยของทรัพยากรบุคคลทั้งหลายต่างก็เห็นพ้องตรงกันว่า พวกเขาได้มีส่วนส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมในการสื่อสารที่โปร่งใสและเปิดกว้าง ขณะที่ 72% ในระดับผู้บริหาร, รองประธาน หรือคนที่อยู่ในตำแหน่งระดับสูงต่างก็มองว่า วัฒนธรรมองค์กรนั้นมีการพัฒนาขึ้นแล้วตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นที่โรคระบาดเกิดขึ้น มีเพียง 21% ของคนในกลุ่ม HR และมีเพียง 14% ของคนอเมริกันที่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าวของผู้บริหาร

ในประเด็นของพนักงาน พบว่า คนทำงานส่วนใหญ่กว่า 25% ไม่เชื่อว่า คนในตำแหน่งระดับผู้จัดการสนับสนุนให้มีความโปร่งใส มีราว 34% ที่คนอเมริกันระบุว่า ผู้จัดการของพวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าควรจะนำทีมอย่างไรและกว่า 25% ระบุว่า บริษัทเองก็ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ หรือเรียกให้ง่ายก็คือไม่ได้มีการฝึกฝนความเป็นผู้นำให้เกิดขึ้นด้วย เรื่องนี้ Western Governors University เคยแบ่งความแตกต่างระหว่างผู้นำกับผู้จัดการไว้ได้น่าสนใจว่าในระดับผู้จัดการนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้และระดับผู้นำที่ยิ่งใหญ่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นผู้ที่มีความสามารถในการจัดการดี

งานวิจัยส่วนใหญ่ระบุว่า ความเป็นผู้นำเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าคุณคือใคร แต่การจัดการสะท้อนให้เห็นถึงตำแหน่งนั้นๆ โดยลักษณะสำคัญของความเป็นผู้นำ หมายถึงความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง สร้างแรงจูงใจ สร้างแรงบันดาลใจ การมอบอำนาจ ส่งเสริมคนให้ประสบความสำเร็จ สร้างวิสัยทัศน์เพื่ออนาคต สร้างวัฒนธรรม โอบรับความเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ลักษณะสำคัญของการจัดการหมายถึง การบริหาร การกำหนดเป้าหมาย การจัดโครงสร้างของทีม การวางแผน การจัดการ การแจกงาน การทำกลยุทธ์ให้บรรลุเป้าหมาย การแก้ปัญหา แต่ลักษณะร่วมสำคัญของทั้งผู้ที่มีความเป็นผู้นำและผู้จัดการก็คือ การสื่อสารที่เปิดกว้าง ความซื่อสัตย์ ความสร้างสรรค์ ความเห็นอกเห็นใจ การมองโลกในแง่ดี ฯลฯ

พนักงานขวัญและกำลังใจตกต่ำ บริษัทจัดการสมดุลไม่ได้

นอกจากประเด็นที่ว่ามา ก็ยังมีเรื่องขวัญกำลังใจที่ตกต่ำของเหล่าคนทำงานอเมริกันชนทั้งหลาย ผลสำรวจระบุว่า กว่าครึ่งของคนอเมริกัน ลาออกจากงานในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาก็มาจากสาเหตุของวัฒนธรรมองค์กรด้วยเหมือนกัน ถือว่าเป็นเหตุผลหลักๆ เลยด้วยซ้ำที่ทำให้คนลาออก เมื่อพวกเขารู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับระดับผู้จัดการมันย่ำแย่ มีพนักงานเพียง 22% เท่านั้นที่ยังทำงานอยู่ต่อไปเพราะผู้จัดการ

คนทำงานชาวอเมริกันต่างตำหนิติติงบริษัทของพวกเขาที่จัดการสมดุลเรื่องภาระจากหน้าที่การงานและความรับผิดชอบในบ้าน พนักงานระบุว่าพวกเขาต้องหยุดกิจกรรมที่ต้องทำในบ้านลงเพราะมัวแต่พะวงกับงานเร่งด่วนจากออฟฟิศของพวกเขาเอง เกือบ 60% ของผู้ทำแบบสำรวจเสียใจที่พวกเขาต้องออกจากงานด้วยความเหนื่อยล้า หนึ่งในสามของคนทำงานตำหนิว่าวัฒนธรรมองค์กรทำให้พวกเขารู้สึกหงุดหงิดเมื่ออยู่บ้าน นอกจากนี้พนักงานหลายคนก็ไม่รู้สึกเกี่ยวพันกับภาระงานที่พวกเขาต้องทำ

หลายคนที่ทำงานระยะไกลหรือ remote work ก็รู้สึกว่าพวกเขาโดดเดี่ยว ไม่เชื่อมโยงกับงานที่ทำและยังมีความกังวลในมุมมองของผู้อื่นอีกว่า พวกเขาทำงานมากพอหรือยังในสายตาคนอื่น เกือบครึ่งหนึ่งของคนทำงานหรือ 44% ที่ทำงานทางไกลต่างรู้สึกว่าโดดเดี่ยวและไม่เชื่อมโยงกับการทำงานราว 43% ขณะเดียวกันผู้หญิงก็รู้สึกได้รับผลกระทบทางลบกับวัฒนธรรมองค์กรที่ย่ำแย่เมื่อเทียบกับคนทำงานที่เป็นผู้ชาย

Photo by Ant Rozetsky on Unsplash

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า วัฒนธรรมองค์กรที่มีทิศทางเชิงบวกจะช่วยทำให้พนักงานรู้สึกเกี่ยวพันกับงานที่ทำ อย่างไรก็ตาม กว่าครึ่งของพนักงานในระดับผู้จัดการและพนักงาน HR เห็นด้วยว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะยังคงรักษาวัฒนธรรมองค์กรได้ในช่วงที่โรคระบาดหนักขนาดนี้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลเพราะเกือบ 2 ปีที่ผ่านมานั้นผู้นำองค์กรต่างๆ ต้องหันมาจัดการทั้งโควิดระบาด จัดการกับช่วงเปลี่ยนผ่านที่ผู้คนในออฟฟิศที่ต้องไปทำงานระยะไกล ทำงานจากบ้าน ไหนจะต้องเตรียมเทคโนโลยีให้พร้อมเพื่อให้ผู้คนทำงานเชื่อมโยง ตอบโจทย์องค์กรในสภาวะแวดล้อมใหม่ๆ ให้สำเร็จด้วย จึงทำให้น่าจะยังปรับวัฒนธรรมองค์กรให้สอดรับกับภาวะโรคระบาดได้อย่างไม่ลงตัวนัก

ที่มา – Forbes, WGU

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา