พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยมีผลอย่างยิ่งต่อการสร้างแบรนด์และการตลาด เพราะสื่อหลักทุกวันนี้ที่มีการบริโภคสูงที่สุดคือ อินเทอร์เน็ต ดังนั้นแบรนด์ทั้งหลายต้องรู้ว่า ในแต่ละวัน การใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างไร และเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน และมีผลกระทบอย่างไรเกิดขึ้น เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการใช้สื่อได้อย่างถูกต้อง ซึ่ง ETDA ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของปี 59 ในช่วงเดือน มี.ค. – พ.ค. 59 จากกลุ่มตัวอย่าง 16,661 คนทั่วประเทศ โดยกระจายอยู่ในทั้ง Gen X, Y, Z และ Baby Boomer พบสิ่งที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
- ผลสำรวจพบว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 6.4 ชั่วโมงต่อวัน (หรือ 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ลดลงจากปีที่แล้ว 6.9 ชั่วโมงต่อวัน เพราะอินเทอร์เน็ตเข้าถึงกลุ่มคนมากกว่าเดิม การสำรวจจึงกว้างกว่าเดิม ทั้งด้านการครอบคลุมพื้นที่ และระดับอายุทั้งเด็กและคนสูงอายุ ทำให้ตัวเลขชั่วโมงการใช้ดูลดลง
- แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือ การใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนประมาณ 85.5% ของประชากร เฉลี่ย 6.2 ชั่วโมงต่ววัน จากปีที่แล้ว อยู่ที่ 82.1% เฉลี่ย 5.7 ชั่วโมงต่อวัน แสดงว่า มีการใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น และมีจำนวนผู้ใช้มากขึ้นด้วย แสดงถึงการขยายของโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ และการเข้าถึงที่มากขึ้น
- ส่วนที่น่าสนใจคือ กลุ่มเพศที่ 3 มีการใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดต่อสัปดาห์ และกลุ่ม Gen B คือ กลุ่มที่มีการใช้งาน Social Network สูงมาก แบรนด์ต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อให้สอดคล้องกับสินค้าและบริการที่จะออกสู่ตลาด
- ช่วงเวลาทำงาน (Working Hours) คนใช้อินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์ 64.5% มากกว่าสมาร์ทโฟน เนื่องจากยังมีงานส่วนมากทั้งราชการและเอกชนที่ทำผ่านคอมพิวเตอร์ทั้ง PC และ Notebook ส่วนช่วงเวลาหลังเลิกงานถึงก่อนนอนเปลี่ยนไปใช้ สมาร์ทโฟน แทน 68.4% ถือเป็นพฤติกรรมปกติไปแล้ว และให้จับตาดู Smart TV ซึ่งกำลังมีการใช้งานมากขึ้น
- กิจกรรม 5 อันดับแรกของการใช้อินเทอร์เน็ต อันดับ 1 Social Network 96.1% อันดับ 2 Youtube 88.1% และอันดับ 3 Search 7% ขณะที่การใช้งานเพื่อการซื้อขาย Shopping มีสัดส่วนอยู่ที่ 59% และใช้เพื่อขายของออนไลน์ 33.8% กล่าวได้ว่า บริการจาก Google คือ Youtube และ Search ซึ่งประเทศไทยใช้ Google Search เป็นหลัก ครองอันดับการใช้งานสูงสุด
- หากเปรียบเทียบแล้วสื่อออนไลน์ที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด อันดับแรกคือ Youtube 97.3% ตามมาด้วย Facebook 94.8% และ LINE 94.6% โดยกลุ่ม Gen Y และ Z นิยมใช้ Youtube มากที่สุด ตรงกับลักษณะนิสัยที่มีการสร้างและบริโภคคอนเทนต์วิดีโอมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วน LINE เป็นบริการที่กลุ่ม Gen B และ X นิยมมากที่สุด เพราะใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเพื่อน
- ส่วนด้านความถี่ในการใช้งาน (เปิดใช้บ่อย) มีการสลับลำดับกัน Facebook มาเป็นอันดับ 1 ที่ 84.2% ตามด้วยLINE 82% และ Youtube 76.9% ส่วนนี้แบรนด์ต่างๆ ต้องให้ความสนใจ เพราะ Facebook คือสื่อที่คนไทยเปิดใช้งานบ่อย จะสามารถสื่อสารกับผู้ใช้ได้อย่างไร
- การใช้อีเมลลดน้อยลง เพราะมี แชท เข้ามาแทนที่ แต่อีเมล จะถูกใช้เพื่อการติดต่อสื่อสารที่เป็นทางการจริงๆ เท่านั้น ซึ่งการแชทนั้นมีลักษณะไม่เป็นทางการ ส่วนหนึงทำให้คนรุ่นใหม่เขียนอีเมลในลักษณะเป็นทางการไม่เป็น แต่พึ่งพาการแชทเป็นหลัก
- ขณะที่ปัญหาที่คนไทยพบ 5 ประการหลักคือ อินเทอร์เน็ตช้า, มีโฆษณามารบกวน, การเชื่อมต่อมีปัญหา, ค่าบริการราคาแพง และ อินเทอร์เน็ตไม่ครอบคลุม ประเด็นสำคัญที่สะท้อนออกมา คือ หากไทยต้องการเป็นศูนย์กลางด้านไอซีที ตามนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ต้องมีการลงทุนด้านดิจิทัลที่มากกว่านี้ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่ยังตามหลังกรุงเทพอยู่พอสมควร
- อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ความตระหนักเรื่องปัญหา ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล กลับไม่อยู่ใน 5 อันดับแรก แสดงให้เห็นว่าคนไทย ยังใส่ใจเรื่องความปลอดภัยน้อยเกินไป และสิ่งที่พบคือ การให้ข้อมูลส่วนตัวกับคนแปลกหน้ามีมากและง่ายเกินไป
- พฤติกรรมส่วนใหญ่มีการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนมากกว่าคอมพิวเตอร์ แม้แต่การช้อปปิ้ง เนื่องจากมีความสะดวกสบายมากกว่า แต่มีบางบริการที่ยังนิยมใช้ผ่านคอมพิวเตอร์มากกว่า คือ การเสียภาษีออนไลน์ และ การเรียนผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องการความละเอียดด้านตัวเลข หรือต้องการรายละเอียดของข้อมูล
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา