ปัจจุบันกระแสการให้ความสนใจดูแลสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในมุมของผู้บริโภค และผู้ประกอบการ
Kantar บริษัทวิจัยด้านข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาทางการตลาด ได้ออกรายงาน Who Cares, Who Does 2020 จากผู้บริโภค 80,000 คน ในยุโรป ลาตินอเมริกา สหรัฐอเมริกา และเอเชีย พบว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคสนใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยพบว่าการใช้จ่ายเงิน 1 ใน 5 ดอลลาร์สหรัฐ ที่ซื้อสินค้า FMCG มาจากผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
แม้ว่าสถานการณ์ของโรคโควิด-19 จะยังคงมีความรุนแรง แต่ความจริงแล้วปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นปัญหาใหญ่ โดยพบว่าปัจจุบัน ขยะพลาสติก เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อยู่ในอันดับ 2
กลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการลดการใช้ขยะพลาสติก ชื่นชอบผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ หรือมีประโยชน์ต่อร่างกาย (Eco-Active) มีจำนวนเพิ่มขึ้น จาก 16% เป็น 20% นับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังพบว่าตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้บริโภค 1 ใน 5 มีนิสัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในจำนวนนี้ 16% เน้นไปที่การริเริ่มเพื่อสิ่งแวดล้อม
ผู้บริโภคในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะสนใจ ว่าตัวเองจะสามารถช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร จากพฤติกรรมสนใจในบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่ซื้อรายสัปดาห์ และต้องการทางเลือกของสินค้าที่เป็นมิตรกับแวดล้อม สำหรับปัญหาขยะพลาสติก โดยผู้บริโภคกว่า 87.5% มองว่าการซื้อสินค้าที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์ลดลง เป็นส่วนสำคัญ
ส่วนผู้ที่มีอิทธิพลต่อความคิดที่ผลักดันให้ผู้บริโภคเกิดความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมต่อสิ่งแวดล้อม พบว่ากว่า 50% มองว่าลูก คือปัจจัยที่ส่งผลมากที่สุด ตามด้วยเพื่อน 43% และคู่ชีวิต 41%
สรุป
ปัจจุบันมูลค่าตลาดของกลุ่มคน Eco-Active ทั่วโลก มีมูลค่าถึง 3.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11.93 ล้านล้านบาท โดยผู้บริโภคกว่า 37% มองว่าผู้ผลิตมีความสำคัญมากที่สุดในการป้องกันปัญหาด้านส่งแวดล้อม แต่กลับมีผู้บริโภคเพียง 22% เท่านั้น ที่มองว่าผู้ผลิตมีผลงานในการดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ดังนั้นผู้ผลิตสินค้า หรือแบรนด์ต่างๆ ควรให้ความสนใจผู้บริโภคกลุ่ม Eco-Active ที่กำลังมีจำนวน และมูลค่าตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในเชิงธุรกิจ และสิ่งแวดล้อม
ที่มา – ข่าวประชาสัมพันธ์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา