เจาะตลาดอาหารระดับ Super Premium มูลค่า 57,100 ล้านบาท ที่โตสวนตลาดเพราะทุกคนใส่ใจสุขภาพ

มูลค่าตลาดอาหารในประเทศไทยปี 2023 อยู่ที่ 7.87 แสนล้านบาท และจะเติบโต 6% โดยเฉลี่ยจนปี 2026 มีมูลค่าที่ 9.33 แสนล้านบาท ผ่านเหตุผลเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมา แต่หากเจาะไปที่ประเภทของอาหารจะพบว่ากลุ่มอาหารระดับ Super Premium มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ

เพราะอาหารระดับ Super Premium เริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดมากขึ้น ผ่านการมีมูลค่าที่ 57,100 ล้านบาท ในปี 2023 คิดเป็น 7.3% ของตลาดอาหารประเทศไทย และตลาดนี้ขับเคลื่อนโดยการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ระดับ Super Premium ที่ราคาห่างกับสินค้าปกติเกือบเท่าตัว

อนาคตของตลาดอาหาร Super Premium จะเติบโตไปได้แค่ไหน และเศรษฐกิจซบเซากระทบกับผู้ซื้อสินค้ากลุ่มนี้หรือไม่ โอลิเวอร์ ก็อตชัลล์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจอาหาร บมจ. เบทาโกร จะมาเล่าให้ฟัง พร้อมกับแนวทางการทำตลาดเนื้อสัตว์ระดับ Super Premium แบรนด์ S-Pure ดังนี้

S-Pure

ตลาดอาหารระดับ Super Premium โตต่อเนื่อง

โอลิเวอร์ ก็อตชัลล์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจอาหาร บมจ. เบทาโกร เล่าให้ฟังว่า ภาพรวมอาหารระดับ Super Premium ทั้งกลุ่มวัตถุดิบ, อาหารปรุงแต่ง และอาหารสำเร็จ ต่างมีการเติบโตต่อเนื่อง เพราะตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด ผู้บริโภคเริ่มหันมาซื้อเนื้อสัตว์ระดับ Super Premium ที่โดดเด่นเรื่องความสะอาด ดีต่อสุขภาพ

“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2020-2023) ภาพรวมตลาดเนื้อสัตว์ระดับ Supre Premium มีการเติบโต 10% และมีการคาดการณ์ว่า หลังจากนี้จะมีการเติบโตไปมากกว่านี้อีก เพราะผู้บริโภคยินดีซื้อสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ และเป็นสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน”

เมื่อประกอบกับทิศทางตลาดอาหารในประเทศไทยที่จะไปที่กลุ่มเพื่อสุขภาพ กับเรื่องความยั่งยืน และประสบการณ์ที่แตกต่างที่ได้รับจากแบรนด์สินค้า โอกาสในตลาดอาหารระดับ Super Premium จึงมีโอกาสเติบโตสูง แต่ปัจจุบันยังมีสัดส่วนในตลาดอาหาร 7.87 แสนล้านบาท เพียง 7.3% โดยกลุ่มมากที่สุดคืออาหารปกติที่มีสัดส่วน 61.4%

S-Pure
โอลิเวอร์ ก็อตชัลล์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจอาหาร บมจ. เบทาโกร

S-Pure กับความแข็งแกร่งในตลาด Super Premium

จากทิศทางดังกล่าว ทำให้ เบทาโกร เร่งทำตลาดอาหารระดับ Super Premium กลุ่มเนื้อสัตว์ และอาหารแปรรูปภายใต้แบรนด์ S-Pure ประกอบด้วยเนื้อหมู และเนื้อไก่ รวมถึงไส้กรอก, แฮม และเบคอน ผ่านการลงทุนงบการตลาด 100 ล้านบาท เพื่อเพิ่มยอดขายให้แบรนด์ S-Pure เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปี 2022

“ตอนนี้ในกลุ่มเนื้อสัตว์ระดับ Super Premium แบรนด์ S-Pure ของ เบทาโกร คือเบอร์ 1 ของตลาด ผ่านส่วนแบ่งราว 50% เอาขนะคู่แข่ง 3-4 แบรนด์ ด้วยมาตรฐานความสะอาด ตอบโจทย์สุขภาพ และใช้บรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมตามทิศทางของตลาดอาหารในประเทศไทยที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้”

สำหรับมาตรฐานความสะอาด S-Pure ของ เบทาโกร ได้รับมาตรฐาน NSF ที่ไม่มีการใช้สารปฏิชีวนะในการเลี้ยง ถือเป็นแบรนด์เดียวที่ได้ในประเทศไทย ส่วนบรรจุภัณฑ์ ทางบริษัทมีการใช้กล่องใส่เนื้อสัตว์ที่ลดการใช้พลาสติกลง 80% นอกจากนี้ยังมีการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษแบบพิเศษเพื่อจำหน่ายในบางช่องทาง

ตลาด Super Premium แบรนด์ใหม่เข้ามายาก

สำหรับการแข่งขันในตลาดเนื้อสัตว์ระดับ Super Premium เบทาโกร มองว่า แบรนด์ใหม่เข้ามาในตลาดนี้ยาก ถ้าเข้ามาได้อาจเข้ามาได้แบบจำหน่ายแค่บางช่องทาง ไม่ใช่จำหน่ายในทุกช่องทางที่มีในประเทศไทย เพราะความท้าทายของการทำตลาดนี้คือ การควบคุมคุณภาพของสินค้า เช่น การอบรมเกษตรกร และการควบคุมไลน์ผลิต

“ถ้าเข้ามาเล็ก ๆ คงง่าย อย่างที่เคยเห็นในบางแบรนด์ แต่จะให้ลงมาแข่งในระดับ Mass น่าจะยาก ซึ่ง S-Pure ของ เบทาโกร จะพยายามขับเคลื่อนตลาดนี้ด้วยนวัตกรรม และความไว้ใจต่าง ๆ เช่น ตอนนี้เราส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ S-Pure ไปที่สิงคโปร์ และฮ่องกงที่ไม่ได้เข้าไปง่าย ๆ รวมถึงใน 3 ปีข้างหน้าบรรจุภัณฑ์จะมีความยั่งยืนทั้งหมด”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสินค้าเนื้อสัตว์ S-Pure และเนื้อสัตว์ระดับ Super Premium แบรนด์อื่น ๆ เช่น CP ปัจจุบันมีราคาสูงกว่าเนื้อสัตว์ปกติเกือบเท่าตัว เช่น เนื้ออกไก่ไร้หนัง 400 ก. ของ S-Pure มีราคา 116 บาท/แพ็ก ส่วนเนื้ออกไก่ไร้หนังอ้างอิงราคากระทรวงพาณิชย์วันที่ 26 ก.ค. 2023 เฉลี่ยอยู่ที่ 90 บาท/กก.

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา