เทียบกับจีน เกาหลี ญี่ปุ่น คนไทยไม่ค่อยมี ‘แบรนด์ท้องถิ่น’ ในใจ แต่ตอนนี้ 83% ยอมจ่ายแพงขึ้น อุดหนุนในประเทศ

คุณคิดว่า ‘แบรนด์’ แบรนด์หนึ่งจะประสบความสำเร็จทั้งในแง่ความแข็งแกร่งและเป็นที่รักได้ยังไงบ้าง? ผลสำรวจ Super Brands in APAC: The Rise of Challenging Opportunities จาก VML Thailand บอกว่า แบรนด์แบรนด์หนึ่งจะกลายเป็น ’Super Brand’ ได้จะต้องมี 2 ปัจจัยหลัก คือ ความแข็งแกร่ง และ ความเป็นที่รัก โดยอธิบายแบบนี้

  1. Brand Power คือ ความแข็งแกร่งของแบรนด์ ทำให้ผู้บริโภครู้จัก มั่นใจ อยากใช้ และรู้สึกแตกต่าง
  2. Brand Love คือ ความรักในแบรนด์ ทำให้ผู้บริโภคชื่นชอบและอยากแนะนำต่อ

ผลสำรวจของ VML Thailand ค้นพบว่า จากแบรนด์ทั้งหมดมีแบรนด์เพียงแค่ 3% เท่านั้นที่สามารถเป็น ‘Super Brand’ ได้ โดยผลสำรวจในเอเชียแปซิฟิกบอกว่า Google, YouTube และ Samsung คือ 3 แบรนด์ที่ติดอันดับ Top ของ Super Brand ในแทบทุกประเทศที่ทำการสำรวจ

โดยทั้ง 3 แบรนด์เป็นแบรนด์ระดับโลก (Global Brand) ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ข่าวสาร ความบันเทิง ชีวิต และไลฟ์สไตล์ แต่ก็ยังประสบกับความท้าทายการครองใจผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกอยู่บ้างเช่นกัน ขณะที่แบรนด์ท้องถิ่นในเอเชียแปซิฟิกและไทยกำลังพยายามเร่งทำงาน เพื่อครองใจผู้บริโภค

เพราะรักชาติเลยรักแบรนด์ในชาติด้วย

สิ่งที่มีความสำคัญกับผู้บริโภคในเอเชียอีกอย่าง คือ ‘ค่านิยมรักชาติ’

ผลสำรวจทางด้านความแข็งแกร่งของแบรนด์ (Brand Power) พบว่า TOP 10 ของแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดมักจะเป็น Global Brand แต่แบรนด์ที่อยู่ในอันดับ 1 มักจะเป็นแบรนด์ของคนในชาตินั้นๆ (Country Brand) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลสำรวจในประเทศจีน อินเดีย เกาหลีใต้ เวียดนาม และสิงคโปร์

สอดคล้องกับผลสำรวจทางด้านความรักในแบรนด์ (Brand Love) ที่บอกว่า แบรนด์ของคนในชาตินั้นๆ (Country Brand) มักจะติด TOP 5 ของแบรนด์ที่ได้รับความรักมากที่สุด

บ่งบอกความสำคัญของ ‘ค่านิยมความรักชาติ’ ของคนในเอเชียแปซิฟิกที่มีต่อแบรนด์ ที่ทำให้หลายๆ ‘แบรนด์ท้องถิ่น’ สามารถเข้าไปอยู่ใน TOP 10 ของ Super Brand ที่ทั้งทรงพลังและเป็นที่รักได้ในประเทศนั้นๆ ได้

โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างจีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และพบบ้างในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดีย เวียดนาม และไทย

แบรนด์ไทยอยู่ในใจคนไทยไม่มาก มีแค่ 3% เป็นซูเปอร์แบรนด์ได้

ขณะที่ผลสำรวจใน ‘ประเทศไทย’ พบว่า Super Brand ที่ทรงพลังและเป็นที่รักในใจคนไทย ได้แก่ Google, YouTube, Samsung, TrueMoney และ 7-11

แต่แบรนด์ใน TOP 10 Suoer Brand ในไทยส่วนใหญ่ (8 ใน 10) กลับเป็นแบรนด์ระดับโลก และมี ‘แบรนด์ท้องถิ่น’ แค่ 2 แบรนด์ที่ติดอันดับ มีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียแปซิฟิกอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

VML Thailand บอกว่า พอขยายผลการวิเคราะห์ให้ครอบคลุมแบรนด์ทั้งหมดกว่า 1,200 แบรนด์ในไทย พบว่า มีเพียง 3% ของแบรนด์ในไทยเท่านั้นที่สามารถเป็น Super Brand ที่แข็งแกร่งและเป็นที่รักของคนไทยได้ โดย Super Brand ส่วนใหญ่ในไทยประมาณ 70% เป็นแบรนด์ระดับโลก

คนไทยเริ่มรักแบรนด์ไทย ยอมจ่ายแพงขึ้นซื้อสินค้าในประเทศ

แต่ตอนนี้ความรู้ของคนไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป เพราะผลสำรวจพบว่า ‘คนไทย’ กำลังรู้สึกดีต่อความเป็นไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ ‘แบรนด์ไทย’ ค่อยๆ ไต่อันดับขึ้นมาเป็นอันดับ 5 ของแบรนด์ที่คนไทยรักมากที่สุด

โดยภาพลักษณ์ด้าน ‘เป็นที่นิยม’ กับ ‘พัฒนาเสมอ’ ของแบรนด์ไทยเพิ่มขึ้นชัดเจนเทียบกับสองปีที่แล้ว ขณะเดียวกันยังมี ‘แบรนด์ระดับท้องถิ่น’ อีกหลายร้อยแบรนด์ที่แข็งแกร่งขึ้นและได้รับความรักมากขึ้น จนใกล้เคียงกับแบรนด์ระดับโลกที่เป็นผู้นำตลาด อย่างในกลุ่มสินค้าอาหาร สุขภาพและความงาม บริการด้านการเงิน การท่องเที่ยวเดินทาง เช่น Bangkok Airways, Cute Press, Roza หรือ เทพไท เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า คนไทย 83% ยอมจ่ายแพงมากขึ้นเพื่อสนับสนุนสินค้าของประเทศ และ 93% รู้สึกภูมิใจเมื่อเห็นแบรนด์ของไทยไปโตในตลาดต่างประเทศด้วย ดังนั้น การต่อยอดความรู้สึกผูกพันและความภูมิใจในชาติจึงอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้แบรนด์ท้องถิ่นเพิ่มพลังจนสามารถแข่งขันกับแบรนด์ระดับโลกได้

ทั้งนี้ ผลสำรวจ Super Brands in APAC: The Rise of Challenging Opportunities จาก VML Thailand ได้มาจากกลุ่มตัวอย่าง 104,308 คนที่มีอายุ 18 – 65 ปี ในเอเชียแปซิฟิก ครอบคลุม 8 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย ระหว่างปี 2022 – 2024

 

ข่าวเกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา