รัฐบาลหลายประเทศพยายามจะกดตัวเลขคนติดเชื้อโควิด-19 ให้เป็น flat curve หรือ flattening the curve คือเส้นกราฟที่บอกให้เราได้รู้ว่า เราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ทีมนักวิจัยระหว่างประเทศพบว่า เอาเข้าจริงแล้วการทำให้ผู้ติดเชื้อมีจำนวนเป็นกราฟตาม flat curve นั้น อาจจะส่งผลกระทบเลวร้ายกว่าที่คิด
Liu Yu ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ระบุว่า หลายประเทศต่างก็หวังว่าอากาศที่อุ่นขึ้น และวัคซีนที่กำลังจะผลิตได้ในอนาคตจะช่วยกำจัดไวรัสให้สิ้นไป แต่มันก็ทำลายเศรษฐกิจและไม่ได้ส่งผลอะไรมากนักกับจำนวนคนที่ติดเชื้อ

ขณะเดียวกัน ทีมนักวิทยาศาสตร์จามหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ก็พูดถึง flattening the curve ว่า ไม่มีทางที่จะเกิดจุดเปลี่ยนแน่นอน รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อตอบสนองโรคระบาด เช่น การปิดพื้นที่สาธารณะ การปิดธุรกิจที่ไม่จำเป็น การออกคำสั่งให้คนอยู่แต่ในบ้าน เหล่านี้คือมาตรการที่ทำให้จำนวนคนติดเชื้อใหม่ๆ เสถียร หรือไม่มีคนติดเชื้อเพิ่มใหม่ๆ (งานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่มีการ Peer-review*)
(Peer-review* หรือกระบวนการทางวารสารวิชาการ ที่ต้องมีคนอ่านเนื้อหาเพื่อตรวจทานผลงานนั้นๆ ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ด้วย อาจจะมีความรู้มากกว่าหรือเท่ากันกับนักวิจัยก็ได้ ใช้จำนวน 1 คนหรือ 3 คน)
ทั้งนี้ มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่จัดการหยุดไวรัสได้ โดยที่ธุรกิจภายในประเทศก็ถูกดิสรัปน้อย เช่น เกาหลีใต้ กาตาร์ นอร์เวย์ และนิวซีแลนด์ ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปนได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง ขณะเดียวกัน คนติดเชื้อและคนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ก็เพิ่มขึ้นสูงมากต่อเนื่อง แต่ก็ถือว่ามีการควบคุมโรคได้ดีกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างอิหร่านและลาว
นักวิจัย ระบุว่า ความล้มเหลวจากการมุ่งเป้าไปที่การพยายามทำให้คนติดเชื้อมีจำนวนเป็น flat curve นั้น ต้องอาศัยการให้ความร่วมมือจากสาธารณชนอย่างหนักด้วย ควบคู่ไปกับมาตรการ Social Distancing ซึ่งนโยบายที่พยายามจะทำ flattening the curve นี่เอง ที่ส่งผลให้เกิดการดิสรัปต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และชีวิตของผู้คน แต่ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อการกักบริเวณให้คนติดเชื้ออยู่ห่างจากสังคม เผลอๆ อาจได้ผลแย่กว่าที่คิด

หลายประเทศต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ได้รับผลกระทบเชิงลบราว 20-60% แต่ลดจำนวนคนติดเชื้อได้ราว 30-40% นักวิจัยระบุว่า การผ่อนคลายมาตรการ Lockdown แต่ไม่ควบคุมการติดเชื้อด้วยการตรวจโรคจะทำให้ผู้คนล้มตายกันเกลื่อน
ทางออกของงานศึกษาชิ้นนี้คือ การ Lockdown ประเทศอย่างเข้มข้น และตรวจโรคและแยกผู้ป่วยออกมาให้เร็วที่สุด ถ้าผู้ป่วยติดเชื้อมีจำนวนเป็น 0 เมื่อไร แสดงว่า ประเทศนั้นจัดการโควิด-19 ได้แล้ว จากนั้น งานวิจัยก็พูดถึงการจัดการของจีนในการรับมือโควิด-19 นั้น เป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับการหยุดการระบาดของโรคให้เร็ซที่สุด แต่เป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืน ซ้ำยังมีต้นทุนสูง ส่งผลให้จีนสูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึง 40-90%
นักวิจัยจึงเสนอให้รัฐบาลควรจะพิจารณาที่จะใช้กลยุทธ์ที่เข้มงวดน้อยลงแต่มีประสิทธิภาพอย่างที่เกาหลีใต้และนิวซีแลนด์ทำ ส่งผลให้คนติดเชื้อน้อยกว่า 10 คนต่อวัน และยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเพียง 0.5%-4% เท่านั้น
ที่มา – South China Post
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา