แรงกดดันเศรษฐกิจสหรัฐ! หนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาทะลุเพดาน 1.5 ล้านล้านเหรียญแล้ว

หนี้เพื่อการศึกษาของสหรัฐล่าสุดได้ทำจุดสูงสุดใหม่เกิน 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐไปแล้ว และทำให้เกิดการบริโภคในประเทศลดน้อยลง ทำให้นักวิเคราะห์ต้องออกมาเตือนถึงรัฐบาลสหรัฐเนื่องจากปัญหาหนี้จะกดดันภาคเศรษฐกิจต่อไปในอนาคตด้วย

ภาพจาก Shutterstock

ข้อมูลจาก S&P รายงานว่าหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในสหรัฐได้ทะลุเพดาน 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐไปแล้ว ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันนี้ยอดการกู้ยืมของนักศึกษาลดลงในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงข้อมูลของธนาคารกลางสหรัฐแสดงว่าหนี้ที่ชำระนั้นไม่เกินเวลาอีกด้วย

ช่วงที่ผ่านมาจะมีแคมเปญสำหรับลดหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาอย่าง Revised Pay As You Earn ซึ่งเริ่มต้นในปี 2015 แต่อย่างไรก็ดีปริมาณหนี้ของนักศึกษาก็ไม่ได้ลดลงเท่าไหร่นัก

John Anglim นักวิเคราะห์จาก S&P มองว่าปัญหาที่สำคัญอีกเรื่องคือ พฤติกรรมของนักศึกษาที่กู้ยืมมักจะจ่ายหนี้กู้ยืมเหล่านี้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ ทำให้เงินต้นที่กู้ยืมไปไม่ลดลงในระยะยาว นอกจากนั้นยังทำลายการสะสมความมั่งคั่งอีกด้วย เนื่องจากเงินที่มีทั้งหมดต้องจ่ายหนี้

แรงกดดันเศรษฐกิจสหรัฐ

นอกจากนี้ John ยังมองว่า รัฐบาลต้องจริงจังกับเรื่องนี้มากขึ้น เนื่องจากเรื่องนี้กระทบกับเศรษฐกิจสหรัฐโดยตรง เพราะว่าปริมาณของหนี้ที่สูงขึ้นทำให้ประชาชนสหรัฐต้องประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลกระทบไปเป็นลูกโซ่กับภาคการบริโภคของสหรัฐด้วย

Brookings ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาและถังความคิดในสหรัฐมองว่า 40% ของผู้กู้ยืมหนี้เพื่อการศึกษาในสหรัฐมีสิทธิ์ที่จะเป็นหนี้เสียภายในปี 2023 ด้วย

ไทยก็ไม่แพ้กัน

สำหรับในประเทศไทย หนี้เสียของ กยศ. กำลังจะทะลุ 70,000 ล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่มีกยศ. ได้ปล่อยกู้ให้กับนักศึกษาไปแล้วกว่า 5.4 ล้านคน แต่มีผู้ผิดนัดชำระหนี้มากถึง 2.1 ล้านคน และกำลังจะกลายเป็นปัญหาในอนาคตอีกด้วย

อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่าผู้กู้ยืมในประเทศไทยคืนเงินให้กองทุนในอัตราที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับในหลายๆ ประเทศ นอกจากนี้เมื่อหักกับค่าใช้จ่ายของกองทุนก็พบว่าผลตอบแทนที่คืนกลับไปให้กองทุนนั้นแทบเล็กน้อยมาก

ที่มาFinancial Times, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ