ความเครียดแพร่ระบาดได้: หงุดหงิด หัวร้อน อย่าอยู่ใกล้ใคร ส่งผลเสียถึงกันได้

ความเครียดเป็นโรคติดต่อ แม้ไม่ใช่โรคระบาด แต่ถ้าคนรักหรือคนข้างตัวเครียดเมื่อไร เราจะเครียดตามไปด้วย โดยเฉพาะความเครียดในช่วงวันหยุดยาวที่มีเวลาด้วยกันเยอะขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยและมีการเดินทาง ทำให้เกิดความเครียดอย่างเลี่ยงไม่ได้

couple

โดยปกติเราจะรู้กันดีอยู่แล้วว่าความเครียดส่งผลกระทบต่อสุขภาพตัวเอง แต่การอยู่ในภวังค์แห่งความเครียด ทำให้ไม่ทันได้ตระหนักว่า ความเครียดของตัวเองและการจัดการความเครียดของตัวเองนั้นมันสามารถแพร่ระบาดไปยังคนข้างเคียงได้ โดยเฉพาะคนรักที่อยู่ใกล้ชิด เรื่องนี้นักจิตวิทยาเคยพัฒนาแบบจำลองเพื่อสำรวจดูว่าความเครียดของคนรักมีอิทธิพลต่อคนรักทั้งในทางจิตวิทยาและชีววิทยาอย่างไร จากการศึกษาผ่านงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า คุณภาพของความสัมพันธ์มีนัยสำคัญต่อสุขภาพของคนด้วย

ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดสามารถส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงระบบภูมิคุ้มกัน ต่อมไร้ท่อ ระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ จากการศึกษาในคู่แต่งงานใหม่พบว่าระดับของฮอร์โมนความเครียดสูงขึ้นเมื่อทั้งคู่มีความขัดแย้งกัน เนื่องจากมีทั้งการแสดงออกผ่านการพูดจาวิพากษ์วิจารณ์กัน การเสียดสีกัน การใช้น้ำเสียงที่ไม่น่าประทับใจ การแสดงออกทางสีหน้าในลักษณะยั่วยุ

ขณะที่งานศึกษาชิ้นอื่น พบว่า ผู้คนที่มีความสัมพันธ์ที่เป็นศัตรูคู่ขัดแย้งกับผู้อื่น หากมีแผลก็จะรักษาได้ช้า มีอาการอักเสบนาน ความดันเลือดสูงขึ้น และอัตราการเต้นของหัวใจมีความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนและคนสูงวัย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับคู่รักที่ได้รับความใส่ใจมากกับผู้ที่ได้รับความใส่ใจน้อยก็พบว่า ผู้ที่ได้รับความใส่ใจน้อยจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นในอีก 10 ปีต่อมาเมื่อเทียบกับคู่รักที่ได้รับความใส่ใจมากกว่า

couple
Photo by Kristina Litvjak on Unsplash

นอกจากนี้ คอร์ติซอล หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดก็จะมีบทบาทสำคัญในการตอบสนองต่อความเครียด โดยปกติฮอร์โมนนี้จะหลั่งในระดับสูงที่สุดหลังจากตื่นนอน แต่ถ้าหากฮอร์โมนความเครียดหลั่งต่อเนื่องจะทำให้ส่งผลให้เสียต่อสุขภาพได้ และทำให้ฮอร์โมนมีการหลั่งออกมาแปรปรวน เช่น หลั่งช้าลงหลังตื่นนอนหรือหลั่งน้อยลงมากจนหมดวัน รูปแบบการหลั่งของฮอร์โมนดังกล่าวส่งผลเสียที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ จากผลของการวิจัยก็พบว่า ฮอร์โมนคอร์ติซอลของคู่รักที่มีเหตุขัดแย้งกันจะส่งผลต่อพฤติกรรมเชิงลบ และฮอร์โมนแห่งความเครียดนี้จะยังอยู่ในระดับสูงแม้ว่าความขัดแย้งนี้จะสิ้นสุดลงไปแล้ว 4 ชั่วโมง

ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงแนะนำวิธีลดความเครียดของคู่รักไว้ทั้งในช่วงหยุดยาวและช่วงหลังหยุดยาวที่มักจะมีความขัดแย้งกันว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องหาทางพูดคุย เจรจากัน บอกให้คู่รักเข้าใจในความรู้สึกกันและกัน ซึ่งบางครั้งปัญหามาจากที่คู่รักพยายามจะเลี่ยงปัญหาเพื่อปกป้องอีกฝ่ายด้วยการไม่เปิดเผยความจริงจึงทำให้สถานการณ์แย่ลง นอกจากหันหน้าเข้าหากันแล้ว ยังต้องแสดงให้เห็นถึงความรักที่มีให้แก่กัน ทั้งการสัมผัสเช่นกอดหรือจับมือ หลังจากนั้นก็ให้ทั้งสองฝ่ายต่างมองว่าทั้งคู่เป็นส่วนหนึ่งของทีม ให้ระดมสมองร่วมกันเพื่อหาทางแก้ปัญหา เพื่อลดความเครียดและให้สุขภาพของทั้งสองฝ่ายดีขึ้นและไม่ส่งผลเสียต่อกัน

ที่มา – Japan Today

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา