เรื่องของ Cyber bullying หรือการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่สามารถมองข้ามได้ เพราะเป็นประเด็นที่กระทบถึงเยาวชน และหลายคนกำลังมองเป็นเรื่องปกติ นั่นทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างผิดๆ กำลังแพร่กระจายออกไป โดยที่ไม่รู้ว่ามีผลเสียรออยู่ในอนาคตอันใกล้
ในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต dtac ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และรณรงค์มาตั้งแต่ต้น ซึ่งครั้งนี้ได้ร่วมมือกับ มูลนิธิ Path2Health (แพธทูเฮลธ์) เพื่อหาทางออกและร่วมมือกันป้องกันหรือ Stop Bullying
อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของ dtac บอกว่า เรื่อง Cyber bullying เป็นเรื่องใหญ่มาก ยิ่งคนที่มีลูกหลานจะเข้าใจถึงเรื่องนี้ ดังนั้น dtac จึงวาง 4 เป้าหมายหลักในการสร้างสภาพแวดล้อมทางอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยต่อเด็กและเยาวชนไทย ได้แก่
- สร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาทางอินเทอร์เน็ตที่มีต่อเด็ก
- ผสานเข้าไปกับผลิตภัณฑ์และบริการ
- สร้างความร่วมมือทางอินเทอร์เน็ตเพื่อระบบนิเวศที่ดีขึ้น
- ร่วมสร้างนโยบายและการกำกับที่ดีขึ้น
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการสื่อออนไลน์ของรัฐบาล เพื่อให้สังคมไทยมีระบบและกลไกในการขับเคลื่อน ส่งเสริม และปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันสื่อออนไลน์และใช้อย่างสร้างสรรค์
หนึ่งในยุทธศาสตร์คือ การจัดระบบปกป้องคุ้มครองและเยียวยาเด็กและเยาวชน เพื่อดูแลเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) รวมทั้งควบคุมสื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมและเป็นอันตรายต่อเยาวชน ซึ่งมีแนวโน้มการบังคับใช้กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมีบทลงโทษชัดเจน นับเป็นพัฒนาการอีกขั้นต่อการตระหนักถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนของไทย
ในปีนี้ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นในการสานต่อพันธกิจการต่อต้านการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ดีแทคได้ร่วมมือกับมูลนิธิ Path2Health พัฒนาระบบปรึกษาผ่านห้องแชท Stop Bullying โดยจะเปิดให้บริการในช่วงทดลองในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ และคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561
ธวัชชัย พาชื่น ผู้จัดการโครงการลดการรังแกกันผ่านทางแชท lovecarestation มูลนิธิ P2H บอกว่า โครงการ Stop Bullying: เลิฟแคร์ไม่รังแกกัน เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) กับ dtac และมูลนิธิ Path2Health เพื่อให้บริการปรึกษาผ่านห้องแชทออนไลน์ ในการลดการใช้ความรุนแรงและการรังแกกันในกลุ่มเยาวชน เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่กำลังเผชิญหรือได้รับผลกระทบจากการรังแกกันทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์และที่เกิดขึ้นโดยตรงกับเยาวชนเองให้ได้รับข้อมูล แนวทางการจัดการและความช่วยเหลืออย่างเป็นมิตรจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิ P2H ที่มีประสบการณ์ในการทำงานในเรื่องนี้
ทั้งนี้ ห้องแชทเลิฟแคร์ไม่รังแกกัน เป็นการต่อยอดจากโครงการไม่รังแกกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กได้รับความคุ้มครองจากการรังแกกันในทุกรูปแบบ เพื่อทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน กล่าวคือ มาเรียนแล้วต้องมีความสุข รู้สึกอยากเรียน
สำหรับการใช้บริการเว็บไซต์ http://stopbullying.lovecarestation.com/ สามารถประเมินตัวเองได้ก่อนว่ารูปแบบไหนที่เข้าใจว่าถูกรังแก ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย วาจาหรือออนไลน์ โดยมีทั้งข้อมูลและวิดีโอคลิปให้ศึกษา กระทู้ตั้งคำถามหรือแชร์ประสบการณ์ ตลอดจนการไลฟ์แชทในเรื่องการถูกกลั่นแกล้ง
“บางครั้งน้องๆ อาจจะต้องการเพียงแค่คนรับฟัง แต่หากต้องการความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จะถามว่าเขาบอกใครแล้วหรือยัง โดยจะช่วยประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้น หรือหากอยากแชทกับเจ้าหน้าที่ก็สามารถอินบ็อกซ์มาคุยได้ จะมีเจ้าหน้าที่ประจำตั้งแต่เวลา 16.00-24.00 น. ซึ่งเราให้คำปรึกษาในเบื้องต้น หากเคลียร์ได้ก็จบ แต่หากเคลียร์ไม่ได้ อย่างเช่นเครียด อยากฆ่าตัวตาย หรือมีภาวะซึมเศร้า เราจะส่งต่อไปที่คลินิกวัยรุ่นของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กับที่คอลเซ็นเตอร์ของสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข”
ประเทศไทยติดอันดับ Cyber Bullying ระดับ Top5 ของโลก
นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บอกว่า ผลการวิจัยขั้นต้น (preliminary) เรื่อง “ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ ในระดับชั้น ม.1-3” โดยเป็นความร่วมมือในระดับนานาชาติ 14 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า เด็กไทยเกือบ 80% มีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งในชีวิตจริง โดย 66% ถูกแกล้งอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และอีก 12% ที่ถูกแกล้งทุกวัน ขณะที่เด็กไทย 45% มีประสบการณ์เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งมากกว่าประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นถึง 4 เท่า
โดยรูปแบบที่ถูกกระทำมากที่สุด คือ การโดนล้อเลียนและการถูกตั้งฉายาที่ 79.4% ตามด้วยถูกเพิกเฉย ไม่สนใจ 54.4%และคนอื่นไม่เคารพ 46.8% ตามด้วยการถูกปล่อยข่าวลือ การถูกนำรูปไปตัดต่อ ถูกข่มขู่ และการถูกทำให้หวาดกลัว ตามลำดับ ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า คนที่เด็กจะไปปรึกษาด้วยมากที่สุดคือ เพื่อนถึง 89.2% ตามด้วยผู้ปกครอง 59% พี่น้อง 41.2%โดยครูเป็นลำดับสุดท้าย
นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนได้ว่า “เพื่อน” เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อเด็กวัยรุ่นตอนต้น (early adolescence) อายุระหว่าง 13-15 ปี โดยเฉพาะเด็กนักเรียนชั้น ม.ต้น ที่ต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน (peer acceptance) และเริ่มออกห่างจากพ่อแม่ เมื่อเด็กถูกกลั่นแกล้งและไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูง เด็กจะมีอาการโดดเดี่ยว แยกตัวออกสังคม เริ่มไม่อยากไปโรงเรียน โดดเรียน หนีเรียน ขาดสมาธิ ผลการเรียนตกลง มีอาการซึมเศร้า ใช้สารเสพติด และอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ประเทศทางยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราการฆ่าตัวตายจากการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์เพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีการพัฒนาการถึงขั้นตราเป็นกฎหมาย
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรให้การดูแลเอาใจใส่เด็กในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเป็นพิเศษ โดยสังเกตจากอาการที่จะเกิดจากการถูกกลั่นแกล้ง เช่น อาการซึมเศร้า พูดน้อยลง แยกตัว เก็บตัว ผลการเรียนตก ไม่อยากไปโรงเรียน
“การถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ร้ายแรงกว่าในรูปแบบในอดีตมาก เพราะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะปรากฏอยู่นาน และสามารถแชร์การกลั่นแกล้งนี้ให้ขยายวงกว้างอย่างไรขีดจำกัดในเวลาอันรวดเร็ว”
นพ.ชาญวิทย์ กล่าวเสริมว่า เด็กไทยยังไม่ตระหนักรู้ถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่นำพาพวกเขาเข้าไปอยู่ในวงจรการการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์ โดยการตกเป็นเหยื่อและการเป็นผู้แกล้งเสียเอง ทั้งนี้ เป็นเพราะระดับความรุนแรงอาจยังไม่เท่าต่างประเทศที่ถึงขั้นฆ่าตัวตาย แต่กรณีเด็กไทยอาจเกิดอาการไม่สบายใจ เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ไม่มาโรงเรียน แยกตัว เก็บตัว ซึ่งในผู้ใหญ่อาจไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญเท่าใดนัก
เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน สังคมควรตระหนักและสร้างวัฒนธรรมใหม่สังคมไทยให้เป็นสังคมที่ปราศจากการกลั่นแกล้งกัน ให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ผู้ปกครองควรเสริมสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) ให้กับเด็ก ด้วยพลังแห่งความรัก ความอบอุ่นของครอบครัวนั้นเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา