Stellantis ประกาศแผนลงทุน 30,000 ล้านยูโร ยกระดับธุรกิจ บุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว

ศึกรถยนต์ไฟฟ้ายังสู้กันหนักหน่วง ล่าสุด Stellantis ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ที่เกิดจากการร่วมตัวของ Groupe PSA และ FCA Group ประกาศแผนลงทุน 30,000 ล้านยูโรภายในปี 2025 เพื่อทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเต็มกำลัง

Stellantis

Stellantis มีรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอนาคต

รายงานข่าวแจ้งว่า Stellantis ได้ประกาศลงทุน 30,000 ล้านยูโร (ราว 1.16 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2025 เพื่อลงทุนทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ตัวดังกล่าวค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าของค่ายผู้ผลิตรายอื่น เช่น Ford ลงทุน 29,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 9.47 แสนล้าน) ในรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

สำหรับรายละเอียดของแผนการลงทุน Stellantis ที่มีแบรนด์ Peugeot, Opel, Fiat, Jeep และ Ram อยู่ในมือ ตั้งเป้ายอดขาย 70% ในสหรัฐอเมริกา และ 40% ในยุโรป มาจากรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วน รองลงมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Plug-in Hybrid ซึ่งผลลัพธ์นี้จะได้เห็นภายในอีก 4 ปีข้างหน้า

และเพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้น Stellantis เตรียมพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 4 แบบคือ แพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าขาดเล็ก, กลาง และใหญ่ ซึ่งทั้งหมดวางแบตเตอรี่ไว้ที่พื้น กับอีกแบบคือแพลตฟอร์มสำหรับรถกระบะ ที่วางแบตเตอรี่ไว้ด้านท้ายของตัวรถเป็นหลัก

chrysler

ทยอยเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรุ่น

จากการเพิ่มแพลตฟอร์ม Stellantis มีแผนเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรุ่น เช่นรถกระบะไฟฟ้าล้วนภายใต้แบรนด์ Ram ที่ข้อมูลเบื้องต้นวิ่งได้ 500 ไมล์หลังชาร์จเต็ม, รถยนต์ไฟฟ้าล้วนแบบ Muscle Car ในแบรนด์ Dodge ที่จะเปิดตัวปี 2024 และคงเอกลักษณ์ทั้งดีไซน์ กับการขับขี่ไว้ใกล้เคียงรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน

ขณะเดียวกัน Stellantis ยังวางแผนทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ เช่นรถบรรทุก และรถกระบะ โดยมาพร้อมกับเทคโนโลยี Range Electric Paradigm Breaker ที่ทำให้การลากจูง หรือบรรทุกของหนัก ไม่กระทบกับระยะทางการวิ่งของรถยนต์ไฟฟ้า แต่ยังไม่มีรายละเอียดเชิงลึกมากนัก

แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีโรงงานที่มีประสิทธิภาพ Stellantis จะเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ 5 แห่งในอเมริกาเหนือ และกลุ่มยุโรป รวมถึงวิจัย และผลิตแบตเตอรี่แบบ Solid State ภายในปี 2026 ซึ่งแบตเตอรี่ดังกล่าวดีกว่าแบตเตอรี่แบบเดิมที่ขนาดเล็ก แต่ให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า

Jeep
Jeep Wrangler

เชื่อต้นทุนการครอบครองรถยนต์ไฟฟ้าต่ำลง

นอกจากนี้ Stellantis ยังเชื่อว่า หลังจากการลงทุนครั้งนี้ รวมถึงต้นทุนทางเทคโนโลยีที่ปรับตัวลดลง จะทำให้ต้นทุนการครอบครองรถยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งรวมถึงเรื่องเชื้อเพลิง และประกันภัยด้วย เพราะปัจจุบันต้นทุนการครอบครองรถยนต์ไฟฟ้ายังสูงอยู่มาก

ปัจจัยทั้งหมดนี้ Stellantis ตั้งเป้าทำกำไรจากการบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหลังจากนี้ โดยนอกจากต้นทุนเทคโนโลยีที่ถูกลง ยังมีปัจจัยเรื่องการควบรวมกิจการทำให้ต้นทุนบริหารจัดการลดลงเช่นกัน ถือเป็นการพลิกโฉมหนึ่งในค่ายผู้ผลิตรถยนต์ที่ล่าช้าในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าที่น่าสนใจ

ปัจจุบัน Stellantis ทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเพียงไม่กี่รุ่น เช่น Opel ทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า 1 รุ่นในยุโรป ส่วน Fiat มีการนำ Fiat 500 มาจำหน่ายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วน และเตรียมปรับภาพลักษณ์แบรนด์เป็นขายแต่รถยนต์ไฟฟ้าด้วย และในอนาคต Jeep มีแผนสร้างรุ่นย่อยที่ไม่มีการปล่อยมลพิษให้เลือกซื้อในทุกรุ่นที่ทำตลาด

สรุป

ทั้ง FCA Group และ Groupe PSA ต่างเป็นค่ายผู้ผลิตรถยนต์ที่ล่าช้าในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า แต่หลังจากรวมกันเป็น Stellantis ทุกคนคงจะบอกว่าแบรนด์นี้ช้าไม่ได้อีกแล้ว เพราะจากแผนข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการบุกตลาดนี้ รวมถึงการสร้างรายได้หลักที่มาจากรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

อ้างอิง // CNN

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา