Steelcase กับ Herman Miller คือสองผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์สำนักงานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา และตัวธุรกิจนั้นเติบโตมาต่อเนื่อง แต่ในช่วง COVID-19 ทุกอย่างกลับพังพินาศ เพราะทุกคนต้องไปทำงานที่บ้าน
ไม่มีที่ยืนสำหรับสองผู้นำในตลาดนี้
ปกติแล้ว Steelcase และ Herman Miller จะเน้นทำตลาดเฟอร์นิเจอร์สำนักงานผ่านดีลเลอร์ โดยดีลเลอร์จะไปเจรจาเพื่อจำหน่ายสินค้าเช่นเก้าอี้เพื่อสุขภาพ และโต๊ะปรับระดับได้กับองค์กรต่างๆ ที่สำคัญจำนวนสินค้าที่จำหน่ายไม่ใช่แค่หลักหน่วย แต่เริ่มต้นที่หลักสิบขึ้นไป เพราะสินค้าเหล่านี้จะถูกใช้งานทั้งองค์กร
แต่ Steelcase และ Herman Miller ต่างไม่ได้เตรียมรับวิกฤต COVID-19 ที่ทำให้ผู้ถูกจ้างงานในสหรัฐอเมริกาต้องทำงานที่บ้านกว่า 52% และมีแนวโน้มว่าพวกเขาจะต้องทำงานที่บ้านไปอีกระยะหนึ่ง เพราะช่องทางที่ใช้ทำตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าให้กับบุคคลทั่วไปแทบไม่มี
และถึงสองบริษัทนี้จะเร่งเครื่องจำหน่ายสินค้าให้กับบุคคลทั่วไป ประกอบกับบางบริษัทได้ให้เงินพนักงานเพื่อไปยกระดับการทำงานที่บ้าน เช่น Alphabet บริษัทแม่ของ Google ให้เงิน 1,000 ดอลลาร์ พนักงานเหล่านั้นก็เลือกจะซื้อสินค้าตามช่องทางที่สะดวก เช่นดูผ่าน Amazon.com หรือร้านค้าที่ใกล้ตัว
ราคา และการประกอบคือตัวปัญหา
ที่สำคัญการประกอบถือเป็นอีกปัญหาของ Steelcase และ Herman Miller เพราะทั้งสองบริษัทเน้นทำตลาดผ่านดีลเลอร์ดังที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้สินค้าที่ต้องอาศัยการประกอบที่ซับซ้อน เช่นโต๊ะปรับระดับได้ กลายเป็นสิ่งที่ลำบากหลังอยู่ในมือผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องนี้
ขณะเดียวกันระดับราคาสินค้าของทั้งสองแบรนด์นั้นไม่ใช่ถูกๆ เช่นเก้าอี้เพื่อสุขภาพราคาหลักหมื่นบาทเป็นต้น และหากต้องการให้ครบองค์ประกอบการทำงานอาจต้องใช้เงินหลายหมื่นบาท แต่ผู้บริโภคทั่วไปคงไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะพวกเขาเลือกซื้อสินค้าธรรมดาเพื่อใช้ชั่วคราวในวิกฤตนี้
อย่างไรก็ตามทั้งสองบริษัท และผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์สำนักงานรายอื่นอยู่ระหว่างพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์การทำงานยุคใหม่ที่พื้นที่สำนักงานขนาดใหญ่มีความจำเป็นน้อยลง และองค์กรต่างๆ เริ่มต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ โดยตัวสินค้าที่ออกมาจะเน้นที่ความเหมาะสมกับการใช้งานในสำนักงานขนาดเล็ก หรือการใช้งานรายบุคคล
ตัวเลขที่โกหกไม่ได้ในช่วง COVID-19
เมื่อ Steelcase และ Herman Miller ไม่สามารถทำตลาดในช่วง COVID-19 ทำให้ยอดขายของทั้งสองบริษัทลดลงอย่างหนัก โดยไตรมาสแรกของ Steelcase (3 เดือนที่สิ้นสุดเดือนพ.ค. 2563) ยอดขายลดลง 41% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เหลือ 483 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น้อยที่สุดนับตั้งแต่ยื่น IPO เมื่อปี 2541
ส่วนไตรมาสสุดท้ายของ Herman Miller (3 เดือนที่สิ้นสุดเดือนพ.ค. 2563) มียอดขาย 475 ดอลลาร์ ลดลง 29.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่สำคัญมูลค่าหุ้นของทั้งสองบริษัทลดลงอย่างหนักเช่นเดียวกัน หรือกว่า 70% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 เพราะนักลงทุนไม่เชื่อมั่นในธุรกิจ ผ่านวิกฤตนี้ที่ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร
ไม่ใช่แค่ Steelcase และ Herman Miller ที่ประสบปัญหานี้ เพราะผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์สำนักงานรายอื่นต่างประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน ผ่านการปรับตัวไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรงไม่ได้ตามที่ต้องการ แต่ถึงอย่างไรทั้งหมดนี้ก็พยายามเร่งเครื่องเพิ่มช่องทางออนไลน์ และอื่นๆ เพื่อพาธุรกิจให้อยู่รอดในวิกฤตนี้ด้วย
สรุป
ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์สำนักงานในเวลานี้หากราคาเข้าถึงยาก และการขนส่งไม่ตอบโจทย์อย่างที่ควรจะเป็น ก็ยากที่จะอยู่รอดในวิกฤตนี้ได้ และในประเทศไทยเอง ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์สำนักงานทั้งรายใหญ่ และรายย่อย ต่างเร่งปรับตัวไปออนไลน์ และพยายามกดราคาลงมา เพื่อจูงใจผู้บริโภคเช่นเดียวกัน
อ้างอิง // Japan Today, Steelcase, Herman Miller
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา