ตัวเลขทางบัญชีมีมากมายที่สามารถแสดงถึงฐานะทางการเงินและสภาพทางการเงินของบริษัท ซึ่ง งบดุล ก็เป็นหนึ่งในตัวเลขนั้นเพราะแสดงถึงทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของบริษัท
งบดุล คืออะไร
งบดุล คือ งบการเงินประเภทหนึ่งที่แสดงถึงทรัพย์สินของบริษัท ซึ่งอาจหมายถึงทรัพย์สินและหนี้สินก็ได้รวมถึงมีส่วนของเจ้าของ(ทุน)ด้วยรวมมูลค่าแล้วเป็นเท่าใด โดยมีสมการง่ายๆ นั่นก็คือ
สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ
และด้วยความที่สมการนี้ต้องมีความสมดุลกัน จึงเป็นที่มาของคำว่า งบดุล สำหรับปัจจุบันมีการเปลี่ยนชื่อเป็นคำว่า “งบแสดงฐานะทางการเงิน” เพื่อให้ชื่อนั้นแสดงความหมายได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น
สินทรัพย์ (Asset)
หมายถึงสิ่งที่อยู่มนการควบคุมของบริษัท สามารถก่อให้เกิดรายได้และประโยชน์ต่อบริษัทได้ เช่น เงินสด สินค้า โรงงาน อุปกรณ์ อาคารที่ทำการ ซึ่งสินทรัพย์นั้นถูกแบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่
- สินทรัพย์หมุนเวียน คือสินทรัพย์ประเภทที่สามารถเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นเงินสดได้ภายในเวลา 1 ปี เช่น เงินสด สินค้าที่อยู่ในคลัง
- สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน คือสินทรัพย์ประเภทที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นเงินสดได้ภายในเวลา 1 ปี เช่น ที่ดิน อาคารสำนักงาน เครื่องจักร อุปกรณ์ ซอฟท์แวร์ ลิขสิทธิ์ของสินค้า สัมปทานต่างๆ สิทธิบัตร รวมทั้งเงินลงทุนระยะยาวด้วย
หนี้สิน (Liabilities)
หมายถึงภาระผูกพันในปัจจุบันของกิจการซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียรายได้และประโยชน์ต่อบริษัท เช่น เจ้าหนี้ ค่าใช้จ่ายที่ค้างชำนะ เงินกู้ยืม ซึ่งหนี้สินเองก็แบ่งเป็นสองประเภทเช่นเดียวกับสินทรัพย์
- หนี้สินหมุนเวียน คือรายการหนี้สินต่างๆ ที่มีกำหนดชำระภายใน 1 ปี เช่น เงินเบิกเกินบัญชี เจ้าหนี้การค้า ค่าใช้จ่ายที่ค้างชำระอยู่
- หนี้สินไม่หมุนเวียน คือรายการหนี้สินต่างๆ ที่มีกำหนดชำระภายเกิน 1 ปี เช่น เงินกู้ยืมระยะยาว หุ้นกู้
ส่วนของเจ้าของ (Equity)
หมายถึงมูลค่าของทรัพย์สินสุทธิที่เจ้าของกิจการหรือบริษัทที่มีสิทธิหรือส่วนได้ส่วนเสียหากหักหนี้สินออกแล้ว ซึ่งประกอบไปด้วย
- เงินที่มาลงทุนของเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น
- กำไร / ขาดทุน สะสม
เราได้อะไรจากการรู้งบดุล
เมื่อเรารู้งบดุลของกิจการแล้วจะสะท้อนกลับมาว่าตอนนี้กิจการมั่นคงหรือไม่อย่างไร หากมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินแสดงว่ามีความมั่นคง นอกจากนี้หากสินทรัพย์สุทธิหรือส่วนของเจ้าของมีมากแปลกว่ากิจการนั้นหากหักหนี้สินออกไปก็ยังคงมีสินทรัพย์ที่เหลืออยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง
Source: FlowAccount, Inflow Account
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา