ปีนี้ ‘คนไทยถูกมิจฉาชีพหลอก’ บ่อยขึ้น หลอกสำเร็จเร็วกว่าเดิม และโอกาสได้เงินคืนน้อยลง

ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์การหลองลวงจากมิจฉาชีพในประเทศไทย (State of Scams in Thailand) ประจำปี 2567 ที่จัดทำโดย Gogolook, Global Anti-Scam Alliance (GASA) และ ScamAdviser เปิดเผยว่า ปีนี้ ‘คนไทยถูกหลอก’ บ่อยขึ้น มิจฉาชีพหลอกสำเร็จเร็วกว่าเดิม และโอกาสได้เงินคืนก็น้อยลง

อาจเป็นกราฟิกรูป แผนที่ และ ข้อความ

โดยมีหลายรายละเอียดที่น่าสนใจ ได้แก่

  • 28% บอกว่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
  • 58% บอกว่าต้องรับมือกับมิจฉาชีพมากขึ้นกว่าปีก่อน
  • 89% บอกว่าต้องรับมือกับมิจฉาชีพอย่างน้อยเดือนละครั้ง
  • มูลค่าความเสียหายเฉลี่ยตอนนี้คือ 36,000 บาทต่อคน

สะท้อนให้เห็นว่าปี 2567 นี้ คนไทยพบกับการหลอกลวงจากมิจฉาชีพเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อน โดยส่วนมากบอกว่าจะต้องรับมือกับมิจฉาชีพอย่างน้อย ‘เดือนละครั้ง’ โดยมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยต่อคนตอนนี้แตะ 36,000 บาทแล้ว

หลอกสำเร็จไวใน 1 ชั่วโมง แค่ 2% เท่านั้นที่ได้เงินคืน

นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลอีกชุดที่สะท้อนสิ่งที่เกิดตามมา หลังเหยื่อถูกหลอกลวง

  • 39% บอกว่าเสียเงินให้มิจฉาชีพภายใน 1 ชั่วโมง หลังจากมิจฉาชีพติดต่อมา
  • 2% เท่านั้นที่ได้เงินคืนหลังจากถูกหลอก
  • 71% ไม่สามารถนำเงินที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้
  • 73% ได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงหลังจากถูกหลอก

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนว่า มิจฉาชีพทำงานเร็วขึ้น โดยมีมากถึง 39% ที่สามารถหลอกสำเร็จภายในไม่ถึง 1 ชั่วโมง นอกจากนั้น ผู้เสียหายส่วนใหญ่ไม่ได้เงินคืน และยังมีความเสียหายทางจิตใจเพิ่มเติมมาจากความเสียหายทางทรัพย์สินด้วย

คนไทย 67% ไม่แจ้งความ เพราะไม่ได้อะไร-แจ้งยากซับซ้อน 

นอกจากนั้น 67% ยังไม่ได้แจ้งความหรือหน่วยงานที่มีอำนาจ เวลาเจอมิจฉาชีพหลอกลวงออนไลน์ โดยจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามว่าไม่ได้แจ้งความ เวลาเจอมิจฉาชีพเติบโตขึ้น 5% ในปีที่ผ่านมา

ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามว่า ‘แจ้งความ’ มีสัดส่วน 27% จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด และผู้ตอบแบบสอบถามอีก 5% ตอบว่า ไม่รู้

เจาะลงไปในรายละเอียดของ ‘คนที่ไม่ได้แจ้งความ เวลาเจอมิจฉาชีพหลอกลวงออนไลน์’ เป็นเพราะเหตุผลอะไรบ้าง? เหตุผลที่มีคนตอบมากที่สุด คือ ‘ไม่คิดว่าการแจ้งความจะทำให้เกิดความแตกต่างอะไร’ หรือเรียกง่ายๆ ว่าแจ้งไปก็ไม่ได้อะไรนั่นเอง

โดยเหตุผลที่มีผู้ตอบรองลงมา ได้แก่ การแจ้งความหรือแจ้งหน่วยงานที่มีอำนาจนั้น ‘ซับซ้อน’ เกินไป ทำให้ไม่ได้แจ้งความ ตามด้วยเหตุผลที่สอดคล้องกันคือ ‘ไม่แน่ใจว่าจะต้องแจ้งกับใคร’ นั่นเอง

ส่วนเหตุผลอื่นๆ ที่มีผู้ตอบรองลงมา ได้แก่ ไม่มีเวลา ไม่แน่ใจว่าเป็นมิจฉาชีพไหม กลัวไม่เชื่อว่าเจอมิจฉาชีพจริงๆ ดูไม่สำคัญพอที่จะแจ้ง อายที่จะแจ้ง และอื่นๆ

วิธีหลอกลวงที่มิจฉาชีพใช้มากที่สุด คือ

  • โทรเข้า
  • ส่งข้อความ
  • โฆษณาออนไลน์
  • ส่งข้อความผ่านแอปฯ
  • โพสต์บนโซเชียลมีเดีย

5 ช่องทางที่มิจฉาชีพใช้มากที่สุด ได้แก่

  • Facebook 50%
  • Line 43%
  • Messenger 39%
  • TikTok 25%
  • Gmail 20%

ทั้งนี้ รายงานได้ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของคนไทยกว่า 9,360 คนจากหลากหลายกลุ่มประชากรตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

ข่าวเกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา