วัฒนธรรมสตาร์ตอัพเป็นภัยต่อคนรุ่นใหม่ และทำลายความเป็นผู้ประกอบการ?

ปี 2016 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ต้องถือเป็นปีของ “สตาร์ตอัพ” ที่เข้าสู่กระแสหลัก เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหนในประเทศไทย ก็ล้วนแต่มีคำว่า “สตาร์ตอัพ” เต็มไปหมด

อย่างไรก็ตาม ความตื่นเต้นจนเกินไปต่อกระแสสตาร์ตอัพ อาจไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป และเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว แต่เกิดขึ้นกับทุกแห่งในโลก

Lukas Mikelionis คอลัมนิส์ตของหนังสือพิมพ์ The Telegraph ของอังกฤษ เขียนเตือนเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2015 โดยบอกว่า วัฒนธรรมสตาร์ตอัพ เป็นภัยต่อคนรุ่นใหม่ และกำลังฆ่า “ความเป็นผู้ประกอบการ” ให้ตายจากสังคมไป

Photo: Pexels

ในบทความชิ้นนี้ตั้งคำถามว่า สังคมมักนิยามคนที่ทำสตาร์ตอัพว่าเป็น “คนรุ่นใหม่” “ทะเยอทะยาน” “มีนวัตกรรม” คนกลุ่มนี้เชื่อมั่นในความคิดว่า “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” ซึ่งอาจส่งผลทางลบต่อวิถีชีวิตในระยะยาว

ผู้เขียนมองว่าคนรุ่นใหม่ของอังกฤษต่างก็อยากเป็นผู้ประกอบการ อยากมีกิจการของตัวเอง และการทำตามความฝันตามวิถีของ “วัฒนธรรมสตาร์ตอัพ” ก็มีรูปแบบที่ชัดเจน เช่น ต้องเริ่มจากไอเดียใหม่ๆ ที่ปฏิวัติแนวคิดแบบเดิมๆ อย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจำนวนไม่น้อยมาทำสตาร์ตอัพเพราะอยากดัง อยากมีชีวิตอิสระ อยากเป็นเซเลบริตี้ ได้ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา และความเชื่อเหล่านี้ก็ถูกตอกย้ำโดยบรรดา Venture Capital ของอังกฤษที่ประเคนเงินให้กับ “ผู้กล้า” เหล่านี้จำนวนมหาศาล

สิ่งที่เกิดขึ้นคือสังคมเริ่มมีความเชื่อแล้วว่า ขอเพียงมี “ไอเดียสุดเจ๋ง” บวกกับเงินลงทุนจำนวนมากพอ เราก็สามารถยึดครองโลกได้

แนวคิดนี้ขัดกับแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม ที่บริษัทมีหน้าที่ “ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค” เป็นหลัก แน่นอนว่ามีสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางดังกล่าว แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนรุ่นใหม่ทุกคนจะสามารถทำได้แบบนี้

สิ่งที่น่ากลัวคือวัฒนธรรมแบบนี้กำลังกัดกร่อนและทำลายคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มองว่าการนั่งทำงานที่โต๊ะพร้อมเครื่องคิดเลขเพื่อปิดบัญชีให้จบ หรือการทำวิจัยตลาดอย่างละเอียดเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่หันไปชื่นชมและยึดถือแนวทาง “อยากโตต้องกล้าจ่ายออก” ที่สตาร์ตอัพส่วนใหญ่มักปฏิบัติตามๆ กัน (จากหลักคิดเบื้องหลังว่าเราไม่โตเพราะทำการตลาดไม่ดี) ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สตาร์ตอัพส่วนใหญ่มักล้มเหลวเพราะ 1) สร้างสิ่งที่ตลาดไม่ต้องการ และ 2) มีอัตราการเผาเงิน (burn rate) มากเกินไป

Mark Zuckerberg ในปี 2006 (ภาพจาก Harvard Crimson)

นอกจากนี้ แนวทางการสร้าง “ธุรกิจที่ยั่งยืน” ยังเริ่มหดหายไป กลายเป็นค่านิยม “สร้างบริษัทเพื่อขาย” เอาเงินสดจำนวนมากเข้ามา ตำแหน่ง “ผู้ประกอบการต่อเนื่อง” (serial entrepreneur) กลายเป็นความเท่ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ เหล่านี้โฟกัสไปที่คุณค่าในระยะสั้น เปลี่ยนเป้าหมายจากการเป็นเจ้าของกิจการ มาเป็น “รวยเร็วจากการขายบริษัท” ไปซะแทน

ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ยังละเลยความจริงที่ว่า การประกอบธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญและ “ความเป็นผู้ใหญ่” (sense of maturity) ที่อาจไม่สามารถเรียนรู้กันได้ระหว่างทาง คนจำนวนมากได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของ Mark Zuckerberg ที่เลิกเรียนกลางคัน มาสร้างบริษัทโดยไม่มีประสบการณ์ทำงานใดๆ และกลายเป็นบริษัทระดับโลกได้

โลกสตาร์ตอัพคงจะเป็นเช่นนี้ต่อไป เพราะในแง่หนึ่งมันก็สร้างความหวังให้กับคนวัยกำลังฝัน แต่คนเหล่านี้ก็ควรระลึกไว้ด้วยว่า “การตื่นทอง” ครั้งนี้มีข้อจำกัดและช่องโหว่หลายอย่างที่พึงระวัง

บทความฉบับเต็มจาก Telegraph

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ บรรณาธิการบริหาร BrandInside.asia