ต้องยอมรับว่า Startup ยังเป็นกระแสในประเทศไทยอยู่ เพราะเด็กจบใหม่ หรือผู้มีประสบการณ์ทำงานหลายคนก็อยากออกมาทำธุรกิจของตนเอง แต่จะ Start ให้ถูกต้องอย่างไร ลองมาฟังคำแนะนำจากพี่ใหญ่ในวงการ 2 รายนี้
มองกลุ่มลูกค้าที่กว้าง และต้องลงมือทำ
ชื่อ Buzzebees อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่เชื่อว่าผู้ใช้ Smartphone ต้องเคยพบเห็นโดยไม่รู้ตัวกันมาบ้าง เพราะ Buzzebees เป็นเบื้องหลังให้กับ Application จำพวกสิทธิประโยชน์ของลูกค้าต่างๆ กว่า 100 แพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Galaxy Gift ของ Samsung, Tesco Lotus, McDonald’s และริการธนาคารต่างๆ
ณัฐธิดา สงวนสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า กว่าจะเริ่มต้นธุรกิจนี้ในปี 2555 ได้ ต้องใช้เวลาหาตัวเองอยู่ค่อนข้างนาน เพราะเดิมทีได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยให้กับหน่วยงานราชการมาก่อน แต่ด้วยกระแส Platform as a Service กำลังมา จึงตัดสินใจทิ้งธุรกิจที่มั่นคง และกระโดดมาทำอะไรใหม่ๆ
“ถือว่าค่อนข้างเสี่ยง เพราะตอนที่ทำซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัย ธุรกิจก็เติบโตประมาณหนึ่ง แต่เราเห็นกว่าตัวธุรกิจแบบ Platform ดูแลลูกค้ามันน่าจะเติบโตกว่า ทั้งในแง่จำนวนกลุ่มเป้าหมายที่กว้างมาก จึงตัดสินใจลงมือทำ และมันก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดจริงๆ เพราะถึงตอนนี้ก็มีผู้ใช้งานในระบบกว่า 40 ล้านคน เติบโตเดือนละ 1 ล้าน”
เงินทุนก็สำคัญเพื่อการโตก้าวกระโดด
อย่างไรก็ตามช่วงแรกที่ลงมือทำก็ค่อนข้างประสบอุปสรรคมาก โดยเฉพาะเรื่องเงินทุน เพราะด้วยแนวคิดที่เป็นในทางเทคโนโลยีเกินไป ทำให้การใช้งานค่อนข้างยาก และการจะจ้างโปรแกรมเมอร์ให้อยู่ในทีมก็ยากกว่าเดิม ผ่านการไม่มีเงินทุน แต่เมื่อปรับความคิดใหม่ๆ ก็ทำให้เจอกับ AIS และ Samsung และสามารถเติบโตมาได้ถึงขนาดนี้
“เชื่อว่า End to End แบบที่ Buzzebees ทำคงมีแค่รายเดียวในโลก เพราะทำได้ตั้งแต่หาสินค้า และบริการมาดูแลลูกค้า, ทำคอลเซ็นเตอร์, ส่งสินค้า และรับทำแบบสำรวจผ่านออนไลน์ ประกอบกับการทำ Personalize ที่จ้าง Data Scientist มาด้วย ก็น่าจะทำให้เรา Organic Growth ได้มากกว่าธุรกิจเดิมเช่นกัน”
ด้าน Wongnai เองก็มีการเติบโต และปัญหาอุปสรรคคล้ายๆ กัน โดยหลังจากก่อตั้งมา 7 ปี ด้วยความอยากเป็น Yelp ในประเทศไทย พร้อมก้าวถัดไปด้วยวิสัยทัศน์ Connect People for Good Stuff ซึ่งก็ทำได้จริงๆ เพราะจากร้านอาหาร ก็เป็นเรื่องความสวยความงาม และการทำอาหารแล้ว
Commitment สำคัญคัญถ้าเป็นองค์กรใหญ่
เอกลักษณ์ โกวิริยะวิทยา ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ของ Wongnai เล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกที่ออกมาทำบริษัทของตัวเองก็ค่อนข้างเหนื่อย เพราะทางทีมมองเรื่องการขายโฆษณาตั้งแต่แรก แต่เมื่อตัวบริการมันต้องการข้อมูลที่สร้างจากผู้ใช้บริการเยอะๆ ทำให้ถ้าไม่มีใครใส่ข้อมูลมา ทางทีมก็ต้องทำเอง
“ช่วงแรกเราต้องเดินเก็บข้อมูลร้านอาหารเอง หรือกว่า 200 ร้านค้าภายใน 2 เดือน เพื่อพิสูจน์ว่าบริการเรามีข้อมูลจริงๆ และต้องรอหลังจากนั้นกว่า 2 ปีถึงจะมีการเติบโตแบบ Exponential เพราะเราได้เงินทุนทั้งจากบริษัทญี่ปุ่น และไทย ซึ่งมีเงินมาก็ทำให้เราโตได้เร็วขึ้น แต่มันก็มาพร้อมกับพันธะสัญญาที่กดดันเราไว้”
ทั้งนี้ผู้ร่วมก่อตั้ง Wongnai แนะนำว่า หากอยากเริ่มทำ Startup จริงๆ ต้องคอยถามตัวเองในเรื่องทำถูกต้องหรือไม่ รวมถึงการทดลองกับลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไร เพื่อขยายตลาดได้อย่างถูกต้อง ที่สำคัญคือ หากมีนักลงทุนเข้ามา การใช้ Commitment เป็นตัวกดดันก็จำเป็น เพื่อสร้างผลประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา