สตาร์ทอัพเกาหลีใต้รับพนักงานวัย 55 ปีขึ้นไป ทำงานเทคโนโลยี สู้วัฒนธรรมไม่ให้ค่าคนสูงอายุ

อายุก็แค่ตัวเลข เพราะถ้ามีไฟ ใครก็ทำงานได้ EverYoung สตาร์ทอัพเทคโนโลยีในเกาหลีใต้รับแต่พนักงานสูงอายุเข้าทำงาน เพราะนอกจากมีความพิถีพิถันในการทำงานดีแล้ว ในด้านหนึ่งก็ต่อสู้กับวัฒนธรรมองค์กรในเกาหลีใต้ที่ไม่ให้ค่าคนสูงอายุอีกด้วย

Photo: Video ของ CNA Insider นาทีที่ 0.17 https://www.youtube.com/watch?v=ONZyR1FU228

55 ปีขึ้นไปก็ทำงานสายเทคโนโลยีได้

EverYoung บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในเกาหลีใต้รับพนักงานสูงอายุ โดยกำกับไว้ในเงื่อนไขการสมัครงานเลยว่า “ต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไปเท่านั้น”

พนักงานแต่ละคนจะทำงานเพียงวันละ 4 ชั่วโมง ในทุกๆ 50 นาที จะมีเวลาในการพักผ่อน 10 นาที และแม้เราจะนึกว่าผู้สูงอายุมักทำอะไร “เชื่องช้า” แต่ในบริษัทนี้พิสูจน์แล้วว่า ผู้สูงอายุกับเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้

ที่มากไปกว่านั้นคือ พนักงานสูงอายุจะใส่ใจในรายละเอียดการทำงานดีกว่าพนักงานที่อายุน้อยกว่า และที่น่าสนใจคือ พนักงานสูงอายุที่นี่จะนำโทรศัพท์มือถือไปเก็บไว้ที่ตู้ล็อคเกอร์ ไม่มีการใช้โทรศัพท์ระหว่างการทำงานอีกด้วย

Chung Eunsung ผู้ก่อตั้ง EverYoung บริษัทด้านเทคโนโลยีที่คอยกำกับดูแลเนื้อหาบนโลกออนไลน์ บอกว่า “เราต้องการให้บรรดาผู้สูงอายุได้เข้าร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พวกเขาเต็มไปด้วยความรักในการทำงาน มีความสุข สนุกสนานกับการทำงาน นี่เป็นเหตุผลที่พวกเขาอยากมาทำงานกันทุกวัน”

ต่อสู้กับวัฒนธรรมเลือกปฏิบัติทางอายุ

วัฒนธรรมองค์กรอย่างหนึ่งในการทำงานของเกาหลีใต้คือ “การเลือกปฏิบัติทางอายุ” หมายความว่า เมื่อคุณอายุมากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสในการตกงานก็สูงขึ้นตามไปด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ มีการสำรวจผู้คนอายุระหว่าง 20 – 50 ปี พบว่า กว่า 82% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า รู้สึกเสี่ยงต่อการถูกเกษียณอายุก่อนกำหนด

อย่างไรก็ตาม ในสภาวะที่เกาหลีใต้กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ต้องนับว่ากลยุทธ์ของสตาร์ทอัพรายนี้เป็นอีกหนึ่งในความพยายามฟื้นฟูการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่กีดกันผู้สูงอายุในการทำงาน

สถานการณ์ในไทยเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?

ถ้าดูจากอัตราของผู้สูงอายุแล้ว ประเทศไทยมีแนวโน้มจะเป็นสังคมผู้สูงอายุสูงกว่าเกาหลีใต้ เพราะฉะนั้นนโยบายการทำงานควรจะต้องมีการรองรับกลุ่มผู้สูงอายุ ถ้าดูจากตัวบทกฎหมายพบว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมานี้มีการออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อสนับสนุนให้จ้างผู้สูงอายุทำงานแบบไม่เสียภาษี ลองดูที่นี่

การเปลี่ยนแปลงในทางกฎหมายถือเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องรอดูกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของบริษัทและวัฒนธรรมองค์กรต่างๆ ที่หันมาให้ค่ากับผู้สูงอายุกันมากน้อยแค่ไหนและอย่างไรบ้าง

ที่มา – Channelnewsasia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา