StartDee คือแพลตฟอร์มเรียนพิเศษออนไลน์ที่ให้บริการในไทยมา 2 ปี มีอานิสงส์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่นักเรียนทุกคนต้องเรียนออนไลน์จนล่าสุดมีผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน 2 ล้านครั้ง และยอดสมัครสมาชิกเพิ่ม 3 เท่า
แต่ปัจจุบันปัจจัยบวกดังกล่าวหายไปแล้ว โรงเรียน รวมถึงโรงเรียนสอนพิเศษต่างกลับมาเปิดให้บริการสอนปกติ หรือ On-Site กลายเป็นความท้าทายในการดำเนินธุรกิจของ StartDee และ EdTech รายอื่น
Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ กษม อิทธิสวัสดิ์พันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด เจ้าของ StartDee เพื่อสอบถามกลยุทธ์การทำตลาด และภาพรวมธุรกิจ EdTech ในไทยภายใต้อุปสรรคนี้
2 ล้านดาวน์โหลด กับเป้าหมายที่ยังไม่ชัดเจน
กษม กล่าวว่า StartDee เปิดให้บริการมา 2 ปีการศึกษา ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลด 2 ล้านครั้ง และมียอดสมัครสมาชิกเติบโต 3 เท่าจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขที่ชัดเจนได้ โดยในปีนี้บริษัทมีแผนปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการเปิดเรียน On-Site ของสถานศึกษาต่าง ๆ
เริ่มต้นด้วยการจ้างแบรนด์แอมบาสเดอร์ดาราวัยรุ่น บิวกิ้น กับ นาน่า เพื่อช่วยเหลือเรื่องการสื่อสารแบรนด์ที่จากเดิมผู้เรียนจะรู้จักจากสื่อออนไลน์ และการแนะนำแบบปากต่อปาก พร้อมกับการเปิดรูปแบบการเรียนใหม่ประกอบด้วย
- ENGLISH ACADEMY By StartDee มีคอร์สเรียนรองรับทุกระดับชั้น ตั้งแต่นักเรียนอายุ 7-18 ปี ไปจนถึงนักศึกษาและคนวัยทำงาน เรียนกับครูเจ้าของภาษา เน้นการฝึกใช้งานจริง ราคาเริ่ม 2,300 บาท/คอร์ส
- StartDee LIVE CLASS จะเน้นการคัดกรองติวเตอร์ที่มีชื่อเสียงด้านการสอนอยู่แล้ว มาสอนผ่านแพลตฟอร์มได้ประโยชน์จากการเรียนสดทั่วไป และมีการถาม-ตอบแบบเรียลไทม์หากสงสัย ราคาราว 2,300 บาท/30 ชม.
กลยุทธ์ข้างต้นจะช่วยขับเคลื่อนให้ยอดสมัครสมาชิก และรายได้ของ StartDee เติบโต แต่ยังระบุตัวเลขชัดเจนไม่ได้ โดยปัจจุบันมีรายได้หลักจาก Self Learning บริการสมัครสมาชิกเรียนพิเศษสำหรับชั้น ป.4-ม.6 ทุกรายวิชา ค่าสมัครเริ่มต้น 500 บาท/เดือน และ Practice บริการทดสอบตะลุยโจทย์ที่วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของผู้เรียนได้
ไม่หวั่นเปิดเรียน On-site และเงินเฟ้อ
“การเปิดเรียน On-Site ไม่ได้กระทบกับการดำเนินธุรกิจของ StartDee เพราะนักเรียน และผู้ปกครองเริ่มเข้าใจว่าการเรียนทำได้แบบ Hybrid แล้วแต่ความเหมาะสม ส่วนคู่แข่งจริง ๆ ของเราคือโรงเรียนสอนพิเศษ ซึ่งก็ต้องดูกันว่าพวกเขามีอะไรที่เหนือกว่าเรา และเราสามารถแก้จุดนั้นเพื่อจูงใจให้นักเรียนมาเรียนกับเราในอนาคต”
ขณะเดียวกัน StartDee จะวางตัวเป็น Affordable Platform หรือแพลตฟอร์มเรียนราคาประหยัดเมื่อเทียบกับโรงเรียนสอนพิเศษทั่วไป ทำให้การตัดสินใจของผู้ปกครองง่ายขึ้น และถึงการสมัครเรียนส่วนใหญ่เด็กนักเรียนจะใช้เงินผู้ปกครอง แต่สุดท้ายจากการสำรวจพบว่าเด็กคือผู้ตัดสินใจคนสุดท้ายในการเลือกช่องทางเรียนพิเศษ
อย่างไรก็ตามการวางตัวเป็น Affordable Platform ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่กลยุทธ์ดังกล่าวทำให้บริษัทต้องการฐานสมาชิกจำนวนมากเพื่อชดเชยกับราคา ประกอบกับการขยายทีมงานจากเดิม 150 คนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้พัฒนาเนื้อหาเพื่อรองรับการเติบโตครั้งนี้เช่นกัน
บุกตลาดองค์กรเพิ่มรายได้อีกช่องทาง
ในทางกลับกัน StartDee เตรียมเข้าไปทำตลาดในระดับองค์กรมากขึ้น เพราะปัจจุบันเน้นทำตลาดกับผู้บริโภคทั่วไป โดยก่อนหน้านี้มีการร่วมมือกับโรงเรียนในสังกัด อบจ. จังหวัดหนึ่งเพื่อนำระบบการเรียนของบริษัทไปให้บริการประกอบการเรียนการสอน
นอกจากนี้ยังร่วมมือกับ องค์กรดูแลความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะวัตถุประสงค์การก่อตั้ง StartDee คือการให้โอกาสทุกคนมีการศึกษาที่เท่าเทียมกัน โดยจากการให้บริการมาพบว่าวิชาภาษาอังกฤษ และเลข คือวิชาที่เด็กไทยต้องการเข้ามาเรียนกับบริษัทมากที่สุด
ภาพรวม EdTech ในไทยที่ยังมีโอกาสเติบโต
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรม EdTech ในประเทศไทยยังสามารถเติบโตได้ในภาวะที่สถานศึกษา และโรงเรียนสอนพิเศษเริ่มกลับมาเปิดเรียน On-Site เพราะการเรียนแบบ Hybrid กลายเป็นเรื่องปกติ และ Startup แต่ละรายเริ่มจับจุดแข็งของตัวเองได้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาแก้ไขจุดอ่อนเรื่องการศึกษาในรูปแบบของตัวเอง
“EdTech ในไทยบางรายเป็นแพลตฟอร์มการเรียนการสอนในโรงเรียน บางรายเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นคอนเทนต์หลายรูปแบบ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังเดินหน้าธุรกิจ และได้รับความสนใจจากนักลงทุนเช่นเดิม ยิ่ง Tech Adoption เกิดขึ้นเร็วในปัจจุบัน EdTech ก็ได้รับผลบวกนี้ด้วย”
อ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด เจ้าของ StartDee ปี 2563 มีรายได้รวม 1.57 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 49 ล้านบาท โดย กษม เข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารต่อจาก พริษฐ์ วัชรสินธุ ที่ออกไปเป็นทีมงานของพรรคก้าวไกลเต็มตัว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา