เมื่อ Starbucks ต้องลงมาขายขนมหวาน เอาใจพฤติกรรมคนไทยสายคาเฟ่

ถึงแม้ว่า Starbucks จะขึ้นชื่อว่าเป็นแบรนด์กาแฟอันดับหนึ่งในใจของใครหลายๆ คน แต่ต้องยอมรับว่าการแข่งขันในตลาดดุเดือดขึ้น ทำให้ในช่วงหลายปีมานี้ได้เห็นการปรับตัวอย่างต่อเนื่องของ Starbucks ทั้งอัดโปรโมชั่น รวมถึงล่าสุดกับการลงมาบุกในสินค้าขนมหวาน เอาใจคนไทยที่ชื่นชอบคาเฟ่

ปรับตัวรับการแข่งขันเดือด

ธุรกิจร้านกาแฟยังคงเป็นดาวรุ่งที่มีการเติบโตสูงอยู่ทุกปีเฉลี่ย 10-15% โดยมีการประเมินว่ามีมูลค่าอยู่ราว 17,000-18,000 ล้านบาท โดยเป็นร้านกาแฟที่เป็นแฟรนไชส์ 75% และร้านกาแฟทั่วไป 25% ด้วยความหอมหวานของธุรกิจนี้ ผสมกับพฤติกรรมการบริโภคกาแฟของคนไทยที่มีความนิยมมากขึ้น ทำให้มีแบรนด์ต่างชาติตบเท้าเข้ามา ร่วมถึงแบรนด์ไทยเองก็อัพเลเวลในการต่อกรกับแบรนด์ยักษ์มากขึ้น

ซึ่งถ้าพูดถึงร้านกาแฟยอดนิยมในไทยย่อมหนีไม่พ้นแบรนด์ Starbucks ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอีกแบรนด์ที่ผู้บริโภคมีแบรนด์ ลอยัลตี้ค่อนข้างสูง ถึงแม้ราคาจะแรง แต่หลายคนก็ยอมจ่ายเพื่อให้ได้ประสบการณ์ Starbucks

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ได้เห็น Starbucks มีการปรับตัวอย่างหนัก ทั้งรูปแบบการตลาด โปรโมชั่น หน้าร้าน และเมนู เพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคแต่ละยุคสมัย มีบริการกาแฟแบบ Starbucks Reserve Bar เพื่อเอาใจคอกาแฟพรีเมี่ยม มีการจัดโปรโมชั่น 1 แถม 1 ชนิดที่ว่าถี่ยิบ และมีเมนูใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

และล่าสุดเพิ่งได้ฤกษ์เปิดตัวสาขาแฟล็กชิพ สโตร์แห่งแรกที่สยามสแควร์วัน เป็นสาขาที่ 321 เพื่อฉลองการทำตลาดในประเทศไทยครบ 20 ปีพอดิบพอดี พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่ แต่งตั้ง “เนตรนภา ศรีสมัย” ขึ้นแท่นตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย เป็นผู้หญิง และคนไทยคนแรกในตำแหน่งนี้

นำเมนูขนมมาเสริมทัพ

แต่กลยุทธ์ที่น่าสนใจก็คือการที่ Starbucks ให้น้ำหนักกับเมนู “ขนมหวาน” มากขึ้น เริ่มจากการเป็นพาร์ทเนอร์กับร้านขนมหวาน After You ในการนำเมนูยอดนิยมอย่าง ชิบูย่าฮันนี่ โทสต์ และ ช็อคโกแลตบราวนี่ พร้อมกับสร้างสรรค์เมนูขนมหวานอื่นๆ เช่น เบอร์-รี่ครัมเบิลแพนเค้ก บานอฟฟี่ครัมเบิลแพนเค้ก และอัฟโฟกาโต จำหน่ายที่สาขาแรกที่รีเสิร์ฟ เอ็กซ์พีเรียนบาร์ เมกะบางนา

โดยล่าสุดได้ขนทัพขนมหวานเพิ่มอีกเพียบ ได้แก่ ช็อกโกแลต วูปปี้พาย, มัฟฟินดับเบิ้ลช็อคโกแลต , โดนัท ช็อกโกแลต, เค้กเรดเวลเว็ท, บอสตันครีมพาย, สตาร์บัคส์ ซิกเนอเจอร์ช็อคโกแลต และ Pandan Custard Brix ที่เป็นเมนูไฮไลท์ เป็นขนมปังไส้สังขยาใบเตยรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ มีลักษณะคล้ายกับชิบูย่า ฮันนี่โทสต์

ปกติ Starbucks มีเมนูที่เป็นเบอเกอรี่อยู่ เป็นเค้ก และแซนวิชต่างๆ แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ลูกค้ามักจะทานเครื่องดื่มมากกว่า

การเสริมทัพด้วยเมนูขนมหวานจะช่วยอะไรได้บ้าง

1.ยอดการซื้อต่อบิลของ Starbucks สูงขึ้น จากเดิมซื้อแค่กาแฟ แต่ซื้อขนมหวานทานเพิ่ม

2.ลูกค้าใช้เวลาอยู่ในร้านได้นานขึ้น โดยมียอดการซื้อเพิ่มขึ้น จากเดิมที่อาจจะซื้อกาแฟแล้วนั่งทำงานทั้งวัน แต่มีขนมหวานเข้ามาเพิ่ม

3.มีการเข้าใจพฤติกรรมของคนไทยมากขึ้น ซึ่งคนไทยชอบเข้าร้านคาเฟ่ ชอบทานขนมหวาน ชอบถ่ายรูปเมนูสวยๆ ยิ่งกระตุ้นให้มาใช้บริการบ่อยขึ้น

4.สามารถเพิ่มรายได้ในสัดส่วนเบเกอรี่ให้โตขึ้น เพื่อรับกับผู้บริโภคที่ไม่ดื่มกาแฟ แต่มาทานขนมหวานได้

5.ทำให้แบรนด์ Starbucks ใกล้ชิดผู้บริโภคมากขึ้น มีความทันสมัย มีการพัฒนาเมนูใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

 สรุป

  • เห็นได้ชัดว่า Starbucks มีการทำตลาดแบบโลคอลมากขึ้น มีการเข้าใจพฤติกรรมคนไทย พัฒนาเมนูต่างๆ เพื่อเอาใจคนไทยมากขึ้น
  • การแข่งขันที่สูงขึ้น การอัดโปรโมชั่นอย่างเดียวคงไม่ยั่งยืนเท่าไหร่ ต้องมีการพัฒนาสินค้า บริการ และการสร้างแบรนด์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคมาหาแบรนด์ด้วยความเต็มใจ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา