คนไทยชอบดื่มชา ขนาด “สตาร์บัคส์” ต้องบุกชาพรีเมี่ยมเลยเหรอ

คงทราบกันแล้วว่า “สตาร์บัคส์” เตรียมวางจำหน่ายเครื่องดื่มชาระดับพรีเมี่ยมภายใต้แบรนด์ Teavana (ทีวานา) ในวันที่ 20 ก.ย. ตามร้าน 275 สาขาทั่วประเทศ

แต่สำหรับประเทศไทยเอง “ชา” ไม่ใช่เครื่องดื่มที่ดื่มกันประจำ แล้วทำไม “สตาร์บัคส์” ต้องลงมาทำตลาดชาระดับพรีเมี่ยมในประเทศไทยด้วย ลองมาหาคำตอบกัน

starbuks-teavana2

สร้างทางเลือกเจาะคนไม่ดื่มกาแฟ

สุมนพินทุ์ โชติกะพุกกณะ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด และสื่อสารองค์กร บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า การเข้ามาใช้บริการร้านสตาร์บัคส์ของผู้บริโภค ส่วนหนึ่งมาจากบรรยากาศภายในร้าน หากไม่นับรวมกาแฟของทางร้านที่ให้ความรู้สึกที่แตกต่างเมื่อเทียบกับการดื่มจากร้านอื่น แต่ยังมีลูกค้าบางส่วนที่ไม่ดื่มกาแฟ และอยากเข้ามาซึมซับบรรยากาศภายในร้านเช่นกัน

“การสร้างเครื่องดื่มที่หลากหลายเป็นหนึ่งในวิธีการทำตลาดของสตาร์บัคส์ และมองว่า ชาก็เป็นอีกเครื่องดื่มที่อยู่คู่กับคนไทยมาเป็นเวลานาน ดังนั้นการสร้างแบรนด์ Teavana เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับเครื่องดื่มชา และนำมาผสมกับบรรยากาศ รวมถึงรสชาติที่ได้จากเครื่องดื่มสตาร์บัคส์ จะช่วยให้ผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟ สามารถเพลิดเพลินในแบบเดียวกับกาแฟสตาร์บัคส์ที่มอบความประทับใจไม่รู้จบ”

tea-623796_1920

ทุกแก้วคือความพรีเมี่ยม

ทั้งนี้แต่ละแก้วของ Teavana จะมีจุดเด่นเรื่องการมอบความสดชื่นให้กับผู้ดื่ม และมีการติดต่อกับผู้ผลิตชาอย่างใกล้ชิด เพื่อคัดเลือกใบชา และวัตถุดิบในการชงจากทั่วโลก ผ่านทุกระบบสัมผัสของทีมงาน Teavana โดยเฉพาะ ซึ่งการคัดเลือกในรูปแบบนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากการคัดเลือกเมล็ดกาแฟ รวมถึงวัตถุดิบเพื่อชงเครื่องดื่มอื่นๆ ของสตาร์บัคส์

ขณะเดียวกัน “สตาร์บัคส์” เตรียมปรับแต่งหน้าร้าน 5 สาขา ประกอบด้วย เดอะสตรีท, พาซิโอ้ กาญจนาภิเษก, วิลล่า อารีย์, สยามสแควร์ วัน และเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 1 เพื่อเป็นสาขาแฟล็กชิปของ Teavana และเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์นี้มี 4 ชนิด เช่น Black Tea with Ruby Grapefruit and Honey นอกจากนี้ยังมีแบบรรจุกล่อง 4 รูปแบบ เพื่อนำไปชงในที่ต่างๆ ด้วยตนเอง

14360448_10155187753294838_2126233801_o

ตลาดชาไฮเอนด์ไม่ง่าย

อย่างไรก็ตาม ร้านจำหน่ายชาระดับพรีเมี่ยมจากต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาดในไทย เช่น TWG, Harrods และ 1823 ต่างทำตลาดก่อนสตาร์บัคส์มาระยะหนึ่งแล้ว ผ่านภาพลักษณ์ของร้านที่จำหน่ายทั้งชา, เครื่องดื่ม, ขนมหวาน และอาหารจานหลัก ไม่นับรวมกับร้านไฮเอนด์ของผู้ประกอบการชาวไทยที่นำเข้าใบชาจากทั่วโลกมาสร้างธุรกิจอีกจำนวนหนึ่ง และร้านจำนวนนี้ชูจุดเด่นเรื่องชา

daffodils-1316127_1920

สรุป

การดึงบรรยากาศเข้าเป็นอีกตัวดึงดูด นอกจากรสชาติเครื่องดื่มที่โดดเด่น เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้สตาร์บัคส์แข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มทั้งในไทย และทั่วโลก แต่การทำตลาดเครื่องดื่มชาในไทยอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากคู่แข่งชูจุดเด่นเรื่องชาอย่างชัดเจน ยังมีปัจจัยเรื่อง “ชา” เป็นเครื่องดื่มที่คนไทยไม่ได้ดื่มกันเป็นประจำ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา