ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า ทางธนาคารปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย (GDP) ในปี 2566 ลงมาสู่ระดับ 3.3% จากเดิมที่ระดับ 4.2% อีกทั้งยังปรับลดประมาณการของปี 2567 ลงมาสู่ระดับ 4.2% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 4.5%
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกมีการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ทางธนาคารยังคงมุมมองว่า เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว โดยมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 4.3% จาก 3 ปัจจัย ได้แก่
- ภาพรวมด้านการเมืองมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งต้องติดตามวิธีการและผลลัพธ์ของการออกมาตรการที่จะออกมา
- การบริโภคภายในประเทศจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งมาจากนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล (ที่ระบุว่าจะเห็นในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567) อาจช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคประชาชนเริ่มวางแผนการใช้จ่ายตั้งแต่ปีนี้
- การท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น และจะเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวนับจากช่วงปลาย ก.ย.นี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 2.7-2.8 ล้านคนขึ้นไป ทำให้ทั้งปีคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมรวม 30 ล้านคน โดยมองว่าจะมีแนวโน้มที่ดีไปถึงปี 2567 จึงคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 40 ล้านคน (ใกล้เคียงระดับก่อนเกิด COVID-19)
นอกจากนี้ยังคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ในการประชุมวันที่ 27 ก.ย. นี้ และอย่างน้อยถึงสิ้นปี 2568 โดยอาจมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเป็นตัวแปร แต่หากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ อาจต้องติดตามว่า ธปท.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ในเดือน พ.ย. เพิ่มเติมหรือไม่
ทางธนาคารปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 1.3% จากเดิมที่คาดไว้ 1.7% โดยคาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 1.5% ในปี 2567 จากเดิมที่คาดไว้ที่ 1.3% ในขณะที่คงคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ที่1.4% อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดว่า เงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า
ขณะที่ปัจจัยโลกมองว่า ความผันผวนและความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่อัตราดอกเบี้ยฯ อาจยังไม่ถึงจุดสูงสุดของวัฎจักรครั้งนี้ เพราะยังไม่ปิดโอกาสการขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ อย่างไรก็ตามมองว่า Fed อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ในช่วงต้นปี 2567 ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ในช่วงกลางปี 2567
ด้วยภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่หลายด้าน ทางธนาคารฯ จึงปรับลดคาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดจาก 3.6% มาอยู่ที่ 1.5% ของ GDP การขาดดุลปีงบประมาณคาดว่าจะอยู่ที่ 4.0% ต่อ GDP ในปี 2567 จาก 3.8% ต่อ GDP ในปี 2566
สุดท้ายนี้ ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่หลายประเทศยังคงชะลอตัวทำให้นักลงทุนต่างชาติยังชะลอ และรอดูท่าทีก่อน ส่งผลให้ยังเห็นการขายสุทธิมาจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยซึ่งภายในปี 2566 นี้ยังมีโอกาสพลิกกลับเป็นบวกได้ยาก ส่วนความเสี่ยงดานดุลการค้าของไทยยังต้องจับตามองเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และอาจกระทบให้ขาดดุลการค้า (เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันเพื่อใช้สูงถึง 80%)
ส่วนผลกระทบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เช่น เงินดิจิทัล 10,000 บาท) มองว่าเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบ แต่เชื่อว่ารัฐบาลอาจมองความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการเหล่านี้เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง และเชื่อว่าหากหนี้สาธารณะ-การขาดดุลการคลังอาจเกิดขึ้นในระยะสั้น แต่เชื่อว่าทั้งการขาดดุลและตัวเลขหนี้สาธารณะจะทยอยลดลงในระยะยาว
ที่มา – งานแถลงข่าวธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (18 ก.ย.)
อ่านเพิ่มเติม
- เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังอาจฟื้น แต่ไม่พอฉุดทั้งปี! วิจัยกรุงศรีลด GDP ปี 66 เหลือ 2.8%
- ซีไอเอ็มบี ไทย หั่น GDP ปี 66-67 ผลจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และ 5 ความเสี่ยงขาลง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา