คุยกับรวิศ หาญอุตสาหะ CEO ศรีจันทร์: Soft Skill ที่ต้องมี ถ้าไม่อยากถูก AI แย่งงาน

การ Reskill และ Upskill เป็นสิ่งที่พูดถึงกันมานาน เพราะเทคโนโลยีกำลังจะเข้ามามีบทบาทกับการทำงานของคนมากขึ้น แน่นอนว่าหากยังคงมีรูปแบบการทำงานแบบเดิม ใช้ความรู้แบบเดิมๆ ในอนาคตคงถูกเทคโนโลยีแย่งกันไปในไม่ช้า

รวิศ หาญอุตสาหะ ซึ่งเป็น CEO ของเครื่องสำอางแบรนด์ศรีจันทร์ (Srichand) และเจ้าของเพจ Mission To The Moon ได้มาบรรยายที่ LINE MAN Wongnai และเล่าให้ฟังถึงความเสี่ยงที่คน จะถูกเทคโนโลยีแย่งงาน และทักษะที่จำสำหรับคนทำงานในยุคนี้

รวิศ เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงภาพรวมการทำงานของคนทั่วโลกว่า ภายในปี 2025 จะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำงานในสัดส่วนที่มากกว่าคน โดยมีสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่ง ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่ต้องทำคือ การ Reskill

สำหรับกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เป็นคนที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปี เพิ่งเรียนจบ เจอปัญหาการเมืองยังไม่พอ ต้องมาโดนหุ่นยนต์แย่งงานอีก โดยเฉพาะงานพื้นฐานที่จะถูกหุ่นยนต์ทดแทนได้ง่าย

เมื่อถามว่า คนจะถูกเทคโนโลยีแย่งงาน เราอาจมองไม่เห็นภาพที่ชัดเจน และไม่รู้จำนวนว่าคนจะตกงานเพราะหุ่นยนต์มากน้อยเพียงใด รวิศเล่าว่า เคยมีการศึกษาพบว่า ในปี 2030 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีคนถูกหุ่นยนต์ทดแทนการทำงาน 73 ล้านคน จีน 236 ล้านคน ส่วนไทย จะมีคนที่โดนหุ่นยนต์แย่งงานราว 8 ล้านคน

รวิศ หาญอุตสาหะ ซึ่งเป็น CEO ของเครื่องสำอางแบรนด์ศรีจันทร์ (Srichand) และเจ้าของเพจ Mission To The Moon

Reskill ทางออกสำคัญ ถ้าไม่อยากถูกเทคโนโลยีแย่งงาน

ด้วยจำนวนคนที่ถูกเทคโนโลยีแย่งงานหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ภายในระยะเวลาเพียง 9 ปีเท่านั้น ทางออกสำคัญที่สามารถทำได้ หากไม่อยากถูกเทคโนโลยีแย่งงาน นั่นคือ การ Reskill

แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ Reskill เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และใช้เวลานานจนอาจทำให้คนทำงาน Reskill ไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ รวิศ ให้คำตอบว่า จริงๆ แล้ว การ Reskill อาจใช้เวลาเพียง 84 วันเท่านั้น ขึ้นอยู่กับทักษะใหม่ที่ต้องการเรียนรู้

แม้ตัวเลข 84 วัน จะดูไม่มากนัก แต่อย่าลืมว่า คงไม่มีใครใช้เวลาเพื่อ Reskill ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะการ Reskill ต้องทำพร้อมๆ กับทำงานอย่างอื่น พร้อมกับทำแบบฝึกหัด และเรียนคอร์สออนไลน์ จึงจะสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง ดังนั้นเวลา 84 วันที่ใช้ในการ Reskill จึงไม่ใช่น้อยๆ อย่างที่เราเข้าใจ

เมื่อรู้แล้วว่าการ Reskill คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงานในยุคนี้ ถ้าไม่อยากถูกเทคโนโลยีทดแทน คำถามต่อมาที่เกิดขึ้นคือ แล้วมีทักษะอะไรบ้าง ที่คนทำงานในยุคนี้ต้องมี

แนะนำ 8 ทักษะที่ต้องมี ถ้าไม่อยากถูกเทคโนโลยีแย่งงาน

ทักษะที่มีความสำคัญกับคนทำงานในยุคนี้ ไม่ใช่แค่ Hard Skill ซึ่งเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรงเท่านั้น แต่ยังรวมถึง Soft Skill บางอย่าง ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะบางทักษะเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาทดแทนการทำงานของคนได้

ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน

รวิศ ยกตัวอย่างว่า ปัญหาในยุคนี้มีความซับซ้อนมากกว่าเดิม การแก้ปัญหาจึงต้องอาศัยความสามารถหลายด้าน เป็นตัว Y แล้วนำความสามารถนั้นมาใช้ร่วมกัน เช่น มีความสามารถทั้งวิทยาศาสตร์ และศิลปะ

โดยรวิศ ยกตัวอย่างด้วยว่า ในอดีตเคยมีผู้ทำการศึกษาผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ปี 1901-2005 มีแนวโน้มว่าหากไม่ใช่คนที่ทำอาชีพที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เลย จะทำให้โอกาสในการได้รางวัลโนเบลเพิ่มขึ้น เช่น

    • นักดนตรี โอกาสเพิ่มขึ้น 2 เท่า
    • นักวาดรูป โอกาสเพิ่มขึ้น 7 เท่า
    • คนทำงานฝีมือ โอกาสเพิ่มขึ้น 7.5 เท่า
    • นักเขียนนิยาย โอกาสเพิ่มขึ้น 12 เท่า
    • นักแสดง และนักมายากล โอกาสเพิ่มขึ้น 22 เท่า

ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์

ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ที่รวิศ เปรียบเทียบเหมือนเป็น Common Sense และคิดด้วยการผ่านกระบวนการ

หนึ่งในคนที่รวิศ ยกตัวอย่างว่ามีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ที่ดี คือ Elon Musk เจ้าของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า Tesla ที่คำนวนต้นทุนของรถยนต์ไฟฟ้าในอดีต ว่ามีราคาแพงเกินไป ต้นทุนของแบตเตอรี่ที่อยู่ในรถยนต์ไฟฟ้าก็ไม่ได้มีราคาแพงมากนัก เมื่อรวมต้นทุนทุกอย่างแล้ว ราคาก็ไม่ได้สูงอย่างที่คิด

ภาพจาก Unsplash โดย Amélie Mourichon

ทักษะความคิดสร้างสรรค์

ในยุคนี้เป็นยุค Overload ของทุกๆ อย่าง คอนเทนต์ต่างๆ มีมากมาย หากต้องการดึงดูดความสนใจจากคนให้ได้ ก็ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ รวิศยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากการแข่งขันชกมวยครั้งหนึ่ง ที่ตามปกติแล้วผู้สนับสนุนมักซื้อโฆษณาในบริเวณต่างๆ ของสนามมวย แต่มีแบรนด์หนึ่งที่เลือกซื้อโฆษณาที่พื้นรองเท้าของนักมวย นั่นแสดงว่าหากนักมวยถูกคู่แข่งชกจนล้มลง ภาพของแบรนด์ที่อยู่บนพื้นรองเท้าก็จะปรากฎออกมาให้เห็นทันที

ทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น

ทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น แม้จะดูเป็นเรื่องพื้นฐานแต่กลับมีความสำคัญ ต้องหาคนที่เหมาะสม (Right People) เข้ามาทำงานกับทีม เพราะอย่าลืมว่าแค่ทำงานเก่งอย่างเดียวไม่พอ แต่ทัศนคติต้องดีด้วย ถ้าในทีมมีคนที่ไม่ดีเพียงคนเดียว ก็จะส่งผลเสียต่อการทำงานของคนอื่นๆ ตามไปด้วย

วินัย เรื่องพื้นฐาน แต่มีความสำคัญ

ในยุคนี้เป็นยุคที่ทุกคนเก่งกันหมด คนเก่งๆ มีมาก ดังนั้นคนที่มีความโดดเด่นกลับเป็นคนที่มีวินัย อดทนอยู่กับสิ่งที่น่าเบื่อได้ ซึ่งสิ่งที่น่าเบื่อนี้ จะกลายเป็นสิ่งที่นำชีวิตไปสู่อิสรภาพ

รวิศยกตัวอย่างว่า หากคุณมีวินัยในการออกกำลังกาย คุณจะมีอิสรภาพในการเคลื่อนไหวไปตลอดชีวิต เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ เช่นกัน หากคุณมีวินัยกับเรื่องใด คุณก็จะมีอิสรภาพในเรื่องนั้นๆ ไปด้วย โดยการฝึกวินัยทำได้โดยเริ่มต้นทีละนิด ไม่ต้องหักโหม อย่างการวิ่งอาจเริ่มต้นเพียงวันละ 3 กิโลเมตรก่อน

ความฉลาดทางอารมณ์ Emotional Intelligence

รวิศเล่าว่า ความฉลาดทางอารมณ์คือสิ่งที่ AI ไม่สามารถทดแทนได้ มนุษย์ยังสามารถทำได้ดีกว่า AI และยิ่งในยุคนี้ทักษะความฉลาดทางอารมณ์ก็ยิ่งกลายเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้น เพราะการทำงานในยุคปัจจุบันเราไม่ได้ยอมรับคนที่ทำงานเก่ง แต่ชอบดุด่าคนอื่นๆ เหมือนในยุคที่ผ่านมาอีกแล้ว

แต่ความฉลาดทางอารมณ์จะกลายเป็นเหมือนเครื่องมือ ที่จะช่วยทำให้เกิดการเจรจา และทำให้สามารถดีลงานที่มีความยากได้ง่ายขึ้น

ภาพจาก Unsplash โดย Charles Deluvio

ความสามารถในการอยู่ใน Flow State

ปัจจุบันมีสิ่งที่รบกวนการทำงานจำนวนมาก โดยเฉพาะ Social Media และสภาพแวดล้อมการทำงานในสำนักงานปัจจุบัน คนไม่ได้นั่งทำงานภายในโต๊ะที่มีพาร์ทิชั่นกั้นระหว่างโต๊ะแต่ละตัวอีกต่อไปแล้ว

ดังนั้นความสามารถที่จะมีสมาธิกับงานที่ทำจึงมีความสำคัญ เราต้องรู้จักทำให้ตัวเราเองอยู่ในจุดที่สามารถทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพในการทำงาน และได้ผลผลิตของงานออกมาดี โดยไม่ได้ถูกรบกวน

ทักษะชอบคิด ชอบทดลองตลอดเวลา

รวิศ ยกตัวอย่างความสำคัญของทักษะชอบคิด ชอบทดลองว่า ปัจจุบันหน้าที่ของผู้บริหารองค์กรไม่ใช่การเลือกไอเดียที่พนักงานเสนอมาอีกต่อไปแล้ว แต่ต้องสร้างพื้นที่ให้พนักงานได้คิด ได้ทดลอง แล้วให้ลูกค้าเป็นคนตัดสินว่าชอบอะไร เพราะแม้แต่ตัวผู้บริหารก็ไม่ได้รู้ความต้องการของลูกค้าเช่นกัน

Tesla roadster รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของ Tesla โดย Elon Musk

ตัวอย่างประโยชน์ของการใช้ทักษะชอบคิด ชอบทดลอง ของรวิศ คือ Elon Musk เคยทำการทดลองความสนใจของคนที่อยากได้รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการระดมทุนจากผู้ที่สนใจคนละ 100 ดอลลาร์ แล้วนำเงินนั้นไปซื้อรถยนต์ทั่วๆ ไปมาดัดแปลงให้ลูกค้าดู เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าสนใจจองรถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla แม้ในขณะนั้นรถยนต์ไฟฟ้าคันดังกล่าวยังวิ่งไม่ได้จริงเลยก็ตาม

แต่ผลจากการทดลองนั้นก็ทำให้ Tesla กลายเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่าสูงนำ Toyota ไปแล้ว แม้จะมีจำนวนรถยนต์ที่ผลิตออกมาได้น้อยกว่ามากก็ตาม

ทักษะการเล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย แบบ Steve Jobs

ต้องรู้จักเปลี่ยนเรื่องยากๆ ให้กลายเป็นเรื่องที่ผู้อื่นเข้าใจง่าย โดยใช้การเล่า ซึ่งตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดของคนที่มีทักษะการเล่าเรื่องดี คือ Steve Jobs เมื่อครั้งเปิดตัว MacBook Air รุ่นแรก Steve Jobs เลือกที่จะไม่อธิบายว่าโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่นี้มีความบางเท่าไหร่ แต่เขาเลือกที่จะใส่ MacBook Air เข้าไปในซองกระดาษสีน้ำตาลที่ทุกคนคุ้นเคย เพื่ออธิบายให้เห็นความบาง โดยไม่ต้องอธิบายตัวเลขให้ยุ่งยาก

ทักษะทั้งหมดที่ รวิศ หาญอุตสาหะ แนะนำมานี้ เกือบทั้งหมดเป็น Soft Skill คือไม่ใช้ทักษะที่เกี่ยวกับการทำงานโดยตรง แต่แน่นอนว่าทักษะเหล่านี้กลับมีความสำคัญ เพราะในปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีชนิดได้ทดแทนได้ ไม่ว่าจะหุ่นยนต์ หรือ AI ก็ตาม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา