ก่อนหน้านี้ Square ผู้ให้บริการระบบจ่ายเงินร้านค้าเคยยื่นขอใบอนุญาตเป็นธนาคารเต็มตัว แต่เมื่อช่วงกลางปี Square ก็ได้ยกเลิกการขอใบอนุญาตเนื่องจาก Federal Deposit Insurance Corporation ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องใบอนุญาตมีข้อสงสัยบางอย่าง และ Square ยังไม่สามารถตอบได้
ล่าสุด Square ก็ได้ยื่นขอใบอนุญาตอีกครั้ง และมาพร้อมกับความมั่นใจมากกว่าเดิม
Square ระบุว่า เมื่อได้ใบอนุญาตธนาคารแล้ว ทางบริษัทจะให้บริการรับฝากเงินและให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดเล็ก และตอนนี้ Square ก็ได้ตั้งให้ Brandon Soto อดีตผู้บริหาร Green Dot เป็นซีเอฟโอของหน่วยธนาคารแล้ว เป็นการแสดงว่า Square พร้อมแล้วกับการให้บริการลักษณะเดียวกับธนาคาร และถ้าได้ใบอนุญาตมาแล้ว Square สามารถให้สินเชื่อและรับฝากเงินได้เลย
ให้สินเชื่อกับลูกค้าได้โดยตรง
Square มีบริการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจอยู่แล้วในชื่อว่า Square Capital ซึ่งจะเน้นให้สินเชื่อที่มีจำนวนเงินไม่มากนักแก่ธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารได้ ซึ่งสองในสามของผู้ซื้อขอสินเชื่อผ่าน Square Capital ระบุว่านี่เป็นเพียงทางเลือกสินเชื่อเดียวของพวกเขา
ความได้เปรียบของ Square นั้นคือมีข้อมูลของผู้ขายสินค้าจำนวนมากผ่านระบบจ่ายเงินของร้านค้า จึงทำให้ Square Capital ใช้ข้อมูลในส่วนนี้มาทำข้อมูลเครดิต แต่ด้วยข้อจำกัดที่ Square ยังไม่ใช่ธนาคาร บริการนี้จึงต้องพึ่งพาธนาคารด้วย และใบอนุญาตธนาคารของ Square จะมาทำลายข้อจำกัดในส่วนนี้
เปิดบัญชีเงินฝากได้เลย
ปัจจุบัน Square มีบริการ Instant Deposit ซึ่งมีค่าธรรมเนียมที่ถูกมากเพียง 1% เมื่อใช้กับธนาคารที่กำหนด เจ้าของร้านค้าที่ใช้แพลตฟอร์มของ Square ในการค้าขายก็จะเห็นเงินเข้าบัญชีในเวลาเพียงไม่กี่นาที ซึ่งต่างกับการโอนเงิน ACH ที่อาจต้องรอนานถึง 3 วัน และแน่นอนว่าถ้า Square ได้ใบอนุญาตธนาคารมา เจ้าของร้านก็เบิกเงินเข้าบัญชีของ Square ได้เลย ต้นทุนก็จะถูกลงอีก ค่าธรรมเนียมที่เก็บ 1% ก็ลดลงได้อีก
นอกจากฝั่งร้านค้าแล้ว Square ก็ยังมีแอพชื่อว่า Square Cash เป็นเหมือน e-wallet สำหรับใช้จ่าย และถ้า Square ได้ใบอนุญาตธนาคารจราก FDIC แล้ว Square Cash ก็สามารถให้บริการฝากเช็คผ่านมือถือได้เลย
เปิดช่องทางแข่งขัน
ถ้า Square เป็นรายแรกที่ได้ใบอนุญาตธนาคารแล้ว แน่นอนว่าบริษัทฟินเทคอื่น ๆ ก็คงจะขอใบอนุญาตตามมาด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น PayPal ที่ซีอีโอ Dan Schulman กล่าวว่าเขาเห็นโอกาสในการให้บริการลูกค้ากลุ่ม underbank ซึ่งถ้าเกิด Square ได้ใบอนุญาตธนาคารแล้ว PayPal รวมถึงบริษัทฟินเทคอื่น ๆ ที่มีความพร้อมคงจะยื่นขอใบอนุญาตด้วยแน่นอน
สรุป
เป้าหมายของ Square ที่ต้องการเป็นธนาคารให้ลูกค้านั้น ก็เพื่อที่จะให้บริการลูกค้าได้โดยตรง จากปัจจุบันที่ต้องเป็นพาร์ทเนอร์กับธนาคาร ซึ่งทำให้ Square สามารถคิดค่าธรรมเนียมที่ถูกลง และขยายขอบเขตการให้บริการได้มากกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบันอีก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา