หมดยุคเพลงฮิต สถิติ Spotify ชี้ยุคนี้คนฟังเพลงฮิตลดลง สวนทางเพลงนอกกระแสจากท้องถิ่น

ตามปกติแล้วรูปแบบการฟังเพลงผ่านแอปพลิเคชันสตรีมมิงส่วนใหญ่ พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่มักเลือกฟังเพลงที่ได้รับความนิยม ที่ได้รับการจัดอันดับภายในแอปพลิเคชัน

Spotify

ย้อนกลับไปในปี 2018 เพลงที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเพลงยอดนิยม 40 อันดับแรก ของแอปพลิเคชัน Spotify ในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ฟังกว่า 35 ล้านครั้งต่อวัน ส่วนในปี 2020 เพลงยอดนิยมที่อยู่ใน 40 อันดับแรกมีผู้ฟังลดลงเหลือวันละ 30 ล้านครั้งเท่านั้น

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ฟังเพลงยอดนิยม 40 อันดับแรกลดลงถึง 5 ล้านครั้ง ภายในเวลาเพียง 2 ปี คือ สถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนมีแนวโน้มฟังเพลงน้อยลง เพราะไม่ได้มีโอกาสฟังเพลงขณะเดินทาง หรืออยู่ในร้านค้า แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักๆ เพราะความจริงแล้วยอดการรับฟังเพลงอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือเพลงยอดนิยม 40 อันดับแรก (อันดับที่ 41-200) มียอดการรับฟังเท่าเดิมตั้งแต่ปี 2018

หากเทียบยอดการรับฟังเพลงเป็นสัดส่วน จะพบว่าสัดส่วนการฟังเพลงยอดนิยม 40 อันดับแรก ตกลงจาก 44% เหลือ 39% แม้ว่าจำนวนผู้ใช้งาน Spotify ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม

Discover Weekly และ Daily Mix เป็นเหตุ

ข้อสันนิษฐานสำคัญคือ Spotify มีฟีเจอร์ที่เรียกว่า Discover Weekly และ Daily Mix ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานค้นพบเพลงใหม่ๆ นอกเหนือจากเพลงที่ชอบฟังเป็นประจำ จากข้อมูลของ Spotify พบว่า ศิลปินที่สร้างรายได้มากที่สุดใน 10% แรก มีจำนวนเพิ่มขึ้น 40% ในช่วงปี 2019-2020

นอกจากนี้จำนวนผู้ใช้งานนอกสหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่เติบโตขึ้น ยังทำให้เกิดการกระจายตัวของยอดการรับฟังเพลง ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพลงยอดนิยม 40 อันดับแรกเพียงอย่างเดียว เพราะผู้ใช้งาน Spotify ส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะชอบฟังเพลงท้องถิ่น ภายในประเทศของตัวเองมากกว่า จึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างความหลากหลายในการฟังเพลง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2004 Chris Anderson นักหนังสือพิมพ์เคยตีพิมพ์บทความที่ชื่อว่า The Long Tail เขาเชื่อว่าอินเตอร์เน็ต จะช่วยให้ หนังสือ เพลง หรือภาพยนต์ ที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่ใช่ความนิยมของคนส่วนใหญ่ เติบโตมากขึ้น เพราะช่องทางที่จะเข้าถึงสื่อเหล่านี้มีมากขึ้น ช่วยดึงดูดความสนใจจากคนที่มีความสนใจในสิ่งนั้นๆ จริงๆ ไม่ใช่การบริโภคสื่อที่อิงกับกระแสหลัก ที่คนอื่นๆ นิยมเพียงอย่างเดียว

สรุป

ในด้านผลกระทบ ศิลปินที่อยู่ในสังกัดค่ายเพลงใหญ่ๆ และมีชื่อเสียงคงไม่ได้รับผลกระทบ เพราะถึงอย่างไรก็มีผู้ที่ยังคงชื่นชอบฟังเพลงที่อยู่ในกระแสจำนวนมาก แต่ในเชิงศิลปินท้องถิ่น และศิลปินที่อาจไม่ได้มีชื่อเสียงมากนัก อาจได้รับประโยชน์จากกรณีนี้ เพราะเมื่อมีผู้หันมาฟังเพลงใหม่ๆ นอกเหนือจากเพลงที่อยู่ในกระแส จะยิ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับศิลปินท้องถิ่น ทำให้ได้ส่วนแบ่งจากการฟัง และมีชื่อเสียงมากขึ้นเป็นผลพลอยได้ไปด้วย

ที่มา – qz

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา