ด้านมืดการท่องเที่ยวอวกาศ: ความก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติ สร้างผลกระทบมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อม

การท่องเที่ยวอวกาศเข้าถึงได้ง่ายขึ้นทุกวัน เมื่อค่าใช้จ่ายลดลงสวนทางกับเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่บางทีเราก็ลืมนึกถึงข้อเสียด้านสภาพแวดล้อมไป

ด้วยข่าวเศรษฐีพันล้านหลายรายเช่น Jeff Bezos และ Richard Branson ที่กำลังเตรียมท่องไปในอวกาศด้วยตัวเองครั้งแรก ความตื่นเต้นของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอวกาศ หรือที่เราเรียกว่า Space Tourism ก็มีมากขึ้นทุกวัน

ด้านมืดการท่องเที่ยวอวกาศ: สารพิษที่หลงเหลือจากการปล่อยจรวด

ข้อแลกเปลี่ยนที่สำคัญในทุกครั้งที่ปล่อยจรวด คือ พลังงานที่สูญเปล่าและควันเสียที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลก เชื้อเพลิงจรวดนับพันตันถูกเผาไหม้ทุกครั้งที่มีการปล่อยจรวด โดยความร้อนนั้นจะทำให้เกิดไนโตรเจนออกไซด์จำนวนมากที่ส่งผลกระทบต่อชั้นโอโซน ไม่ว่าจะสูงแค่ไหนในชั้นบรรยากาศโลก

รองศาสตราจารย์ Eloise Marais นักวิจัยผลกระทบของเชื้อเพลิงในชั้นบรรยากาศโลกจาก University College London อธิบายว่า “ไนโตรเจนออกไซด์สามารถเพิ่มและลดโอโซนได้ หากเกิดในชั้นบรรยากาศที่ใกล้โอโซนเกินไป ชั้นโอโซนก็จะบางลงและปกป้องโลกจากรังสีดวงอาทิตย์ได้น้อยลง ในอีกด้านหนึ่ง หากเกิดในชั้นบรรยากาศที่ต่ำเกินไป ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกก็จะมากขึ้น และทำให้ภาวะโลกร้อนแย่ลงตามกันไป”

ยิ่งไปกว่านั้น คลอรีน และ คาร์บอนไดออกไซด์ ก็เป็นอีกสองสารสำคัญที่ทำลายโอโซนและทำให้โลกร้อนขึ้นเหมือนกัน

จรวดไม่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ ตั้งแต่กระบวนการสร้างยันเชื้อเพลิง

เชื้อเพลิงจรวดที่มีความนิยมสูงอย่าง มีเทน และ ไฮโดรเจนเหลว อาจไม่เป็นมิตรต่อธรรมชาติอย่างเช่นการปล่อยแก๊สเรือนกระจกระหว่างการขุด หรือ ใช้การขุดเจาะโดยใช้น้ำแรงดันสูง (fracking) ที่ทำให้บ่อน้ำบาดาลมีการปนเปื้อน เป็นต้น

แม้แต่การผลิตจรวดก็สร้างคาร์บอนจำนวนมากเหมือนกัน ด้วยปริมาณของเหล็กและอลูมิเนียมที่จำเป็น การผลิตเหล็ก 1 ตัน จะปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 1.9 ตัน และ 11.5 ตันสำหรับอลูมิเนียม

การสร้างยาน Starship ของ SpaceX หนึ่งลำจะใช้เหล็กผสม (steel alloy) ปริมาณ 200 ตัน ยังไม่รวมส่วนของจรวดอีก 300 ตัน ซึ่งจรวดส่วนใหญ่ในอดีตจะใช้ได้แค่หนึ่งครั้งเท่านั้น โดยบริษัทการบินอวกาศกำลังพัฒนาจรวดใช้ซ้ำได้กันอยู่ อย่าง Starship ก็เป็นหนึ่งในนั้น

อุตสาหกรรมเครื่องบิน ณ ปัจจุบัน เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนใหญ่ของแก๊สเรือนกระจก โดยมีเที่ยวบินประมาณ 80,000 ถึง 130,000 เที่ยวต่อวัน ปล่อยแก๊สเรือนกระจก 900 ล้านเมตริกตันในปี 2018 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าในปี 2050 ถึงจะลดลงชั่วคราวจากสถานการณ์โควิดก็ตาม ซึ่งการปล่อยจรวดจำนวนมากต่อปีจะมีผลเสียมากกว่าเครื่องบินแน่นอน

สรุป

ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวไปในอวกาศจะเป็นฝันของหลายๆ คน เราต้องไม่ลืมคำนึงถึงผลเสียของเทคโนโลยีนี้ต่อโลก มิเช่นนั้นความพยายามในการลดภาวะโลกร้อนที่ผ่านมาก็สูญเปล่าได้ น่าจับตามองว่าบริษัทการบินอวกาศต่างๆ จะสร้างจรวดที่เป็นมิตต่อธรรมชาติและปลอดภัยอย่างไรบ้างในอนาคต

ที่มา – Mashables

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา