เกาหลีใต้ถอดญี่ปุ่นออกจากสถานะคู่ค้าพิเศษตอบโต้ เชื่อบริษัทเกาหลีได้รับผลน้อยกว่า

รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ถอดญี่ปุ่นออกจากสถานะคู่ค้าพิเศษแล้ว หลังจากที่ญี่ปุ่นได้เดินหน้าตอบโต้ทางเศรษฐกิจกับเกาหลีใต้ในเรื่องของคดีความสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

South Korea Flag
ภาพจาก Shutterstock

เกาหลีใต้ได้ถอดประเทศญี่ปุ่นออกจากสถานะคู่ค้า มีผลในวันนี้ทันที จะทำให้ญี่ปุ่นต้องประสบข้อจำกัดในการนำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้ เช่น ชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิคส์สำหรับการทหาร ฯลฯ การกระทำดังกล่าวนี้เป็นการตอบโต้ญี่ปุ่นหลังจากที่ญี่ปุ่นได้ถอดเกาหลีใต้ออกจากสถานะคู่ค้า ทำให้เอกชนเกาหลีใต้ได้รับความเดือดร้อนจากการสั่งวัตถุดิบผลิตเซมิคอนดักเตอร์จากญี่ปุ่น

บริษัทเกาหลีใต้ที่ส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นจะได้รับการอนุมัติโดยใช้เวลากว่า 15 วันจากเดิมใช้เวลาเพียง 5 วัน นอกจากนี้ยังต้องใช้เอกสารเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งวิธีการตอบโต้นั้นคล้ายกับวิธีการที่ญี่ปุ่นทำกับเกาหลีใต้ก่อนหน้า ไม่เพียงแค่นั้น รัฐมนตรีด้านการค้าของเกาหลีใต้ เตรียมที่จะยื่นเอกสารร้องเรียนองค์การการค้าโลก (WTO) ในกรณีที่ญี่ปุ่นได้กีดกันทางการค้าด้วย

ขณะที่ผลการสำรวจบริษัทเอกชนของเกาหลีใต้ บริษัทต่างๆ คาดว่าผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลสมเหตุสมผลมากถึง 91% และนอกจากนี้รัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นว่าบริษัทเกาหลีใต้จะพบกับปัญหาที่เกิดขึ้นน้อยอีกด้วย

จุดเริ่มต้นในเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาญี่ปุ่นเดินหน้าตอบโต้ทางเศรษฐกิจโดยลดปริมาณการส่งออกสารตั้งต้นสำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เช่น Fluorinated Polyimide ฯลฯ โดยญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตสารเหล่านี้รายใหญ่ของโลก ส่งผลให้ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ในเกาหลีใต้เช่น Samsung และ SK Hynix ฯลฯ เดือดร้อนกับมาตรการตอบโต้ของญี่ปุ่นทันที โดยญี่ปุ่นได้อ้างว่าการที่ถอดเกาหลีใต้ออกจากสถานะคู่ค้ามีสาเหตุมาจากเรื่องของความมั่นคงเป็นหลัก ไม่ใช่การตอบโต้ทางการเมืองในกรณีความขัดแย้งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

แม้ว่าทั้ง 2 จะมีการเปิดเจรจากันไปแล้วแต่ก็พบแต่ความล้มเหลว นอกจากนี้ประชาชนเกาหลีใต้ยังออกมาต่อต้านสินค้าและบริการจากญี่ปุ่น ทำให้ความเลวร้ายของความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศย่ำแย่ลงไปอีก

ที่มาABS-CBN, VOA

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ