เกาหลีใต้เป็นแชมป์ดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดในเอเชีย เฉลี่ย 10.9 ลิตรต่อปี ส่วนพี่ไทยครองที่ 3

เพราะ “โซจู” แท้ๆ ที่ทำให้คนเกาหลีขึ้นอันดับ 1 ในเอเชียที่ดื่มหนักที่สุด รองลงมาคือเวียดนาม ส่วนไทยครองที่ 3 แต่คำถามของไทยคือ แม้จะมีองค์กรภาครัฐตั้งขึ้นมาควบคุมเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่ก็ดูเหมือนว่า สถิติกำลังฟ้องอะไรบางอย่างอยู่

Shutterstock.com

ความนิยมในโซจู คือเหตุผลที่ทำให้เกาหลีใต้เป็นแชมป์ดื่มหนักสุดในเอเชีย

ตัวเลขจากการศึกษาของ Observatory Data Repository จากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ชาวเกาหลีใต้ที่อายุมากกว่า 15 ปีมีอัตราการดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยที่ 10.9 ลิตรต่อคนต่อปี ปัจจัยหลักมากความชื่นชอบ “โซจู” เป็นเหล้าคล้ายวอดก้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยอดฮิตของชาวเกาหลีใต้ จนทำให้ขึ้นครองอันดับ 1 ของประเทศที่ดื่มแอลกอฮอล์หนักสุดในทวีปเอเชีย

ส่วนอันดับ 2 รองลองมาคือ เวียดนาม ค่าเฉลี่ยปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่ 8.7 ลิตรต่อคนต่อปี ส่วนอันดับที่ 3 คือ ไทย ตกอยู่ที่ 8.3 ลิตรต่อคนต่อปี

ส่วนอันดับถัดจากนั้น อันดับที่ 4 คือ มองโกเลีย ที่ 7.8 ลิตรต่อคนต่อปี อันดับที่ 5 คือ จีน ที่ 7.5 ลิตรต่อคนต่อปี (ที่จีนดื่มเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าในจีนมีวัฒนธรรมความเชื่อว่า การดื่มเหล้ากับเพื่อนร่วมงานจะส่งผลดีต่อความก้าวหน้าในสาขาอาชีพ)

ส่วนอันดับของประเทศอื่นๆ ในเอเชียสามารถเข้าไปดูที่นี่

ภาครัฐไทยออกแคมเปญให้เลิกเหล้า แต่คำถามคือ แล้วมีใครเลิกบ้างเล่า?

ประเทศไทยเป็นประเทศที่นอกจากจะมีองค์กรของภาครัฐออกมารณรงค์อย่างต่อเนื่องผ่านงบประมาณของประชาชนว่าให้ “ลด ละ เลิก” เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้น และยังไม่ต้องนับรวมไปถึงกฎหมายในการเข้มงวดสำหรับร้านสะดวกซื้อในการขายแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาที่จำกัดในแต่ละวัน

หน่วยงานภาครัฐอย่าง สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ) ได้สร้างสื่อโฆษณารณรงค์มาอย่างไม่ขาดสาย แต่ทำไมไทยติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศแถบเอเชียที่มีอัตราเฉลี่ยในการดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด เป็นคำถามที่น่าสนใจ สะท้อนว่าสถิติกำลังฟ้องอะไรบางอย่างอยู่

  • หนังโฆษณาของ สสส. พยายามเล่นกับอารมณ์และบริบทของครอบครัว ผ่านการใช้เหตุผลว่า “เลิกเหล้าเพื่อแม่” ลองดูวิดีโอด้านล่างนี้

  • นอกจากนั้น ยังจับกระแสเทศกาล ผ่านสโลแกนติดหู “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” เพื่อต้องการจะผลักดันไปสู่เทรนด์ของการไม่มีแอลกอฮอล์ในงานเทศกาล คำถามก็คือ ในความเป็นจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่? คำตอบก็คือ เมื่อต้นปี 2017 โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า ในช่วง 6 วันของเทศกาลปีใหม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรวม 426 ศพ บาดเจ็บ 3,761 ราย สาเหตุหลักมาจากขับรถเร็วและเมาสุรา โดยคิดเฉพาะสาเหตุจากการเมาสุราสูงถึง 27.73%

แล้วประเทศใดในเอเชียที่ดื่มน้อยสุด?

คำตอบก็คือ ประเทศกลุ่มอิสลาม เป็นประเทศที่ดื่มแอลกอฮอล์น้อยที่สุด ด้วยเหตุผลเรื่องกฎหมายที่เข้มงวดสูงมาก (อิทธิพลจากศาสนาอิสลาม) พบว่า ใน อินโดนีเซีย และ บังคลาเทศ ผู้คนในประเทศมีค่าเฉลี่ยการดื่มไวน์ต่อคนต่อปีเพียง 0.6 และ 0.2 ลิตรตามลำดับ

ส่วนประเทศที่มีค่าเฉลี่ยการดื่มต่ำสุดในเอเชียคือ ปากีสถาน เฉลี่ยอยู่ที่ 0.1 ลิตรต่อคนต่อปี

Shutterstock.com

สำหรับประเทศไทย แม้กฎหมายห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างวัน รวมถึงการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินในการโปรโมทโฆษณาให้คนไทยเลิกเหล้าจะดูยังไม่ได้ผลมากนัก เราอาจต้องมองในภาพใหญ่ด้วยว่า ตลาดเบียร์ไทยถูกผูกขาดด้วยคนกลุ่มใด มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของไทยทำธุรกิจอะไร เพราะยิ่งเรามองภาพใหญ่ได้ชัดเจนมากเพียงใด เราจะเข้าใจว่ากฎหมายห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างวันกับการโฆษณาของ สสส. มีหน้าที่อย่างไรในสังคมนี้

*ข้อมูลในข่าวนี้อ้างอิงจากองค์การอนามัยโลกที่ทำการศึกษาในปี 2015

*Brand Inside ได้ติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง ทั้งสสส. สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่าไม่มีหน่วยงานใดให้ข้อมูลที่สดใหม่หรือน่าเชื่อถือไปกว่านี้ได้ พร้อมทั้งมีการอ้างว่า สถิติการดื่มแอลกอฮอล์จะทำทุกๆ 5 ปี ด้วยเหตุนี้ทางกองบรรณาธิการ Brand Inside จึงเลือกใช้สถิตินี้เป็นข้อมูล

อ้างอิง – Straits Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา