จัดการโควิด-19 ได้ แม้ไม่ปิดประเทศ บทเรียนจากเกาหลีใต้ “เน้นโปร่งใส ใส่ใจกักกันโรค”

เกาหลีใต้ไม่ได้ปิดประเทศหรือจำกัดการเคลื่อนไหวของผู้คนแบบจีนหรืออิตาลี แต่เลือกทำตรงข้ามทุกอย่าง แม้ตัวเลขคนติดเชื้อจะพุ่งทะยานอย่างรวดเร็วในช่วงแรก แต่ตอนนี้สามารถทำให้ตัวเลขคนติดเชื้อค่อยๆ ลดลงแล้ว

เจ้าหน้าที่รัฐมุ่งเป้าไปที่การกักกันโรคของผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้คนที่อยู่ใกล้ชิดคนติดเชื้อ ขณะเดียวกันก็เน้นให้คำแนะนำว่าประชาชนควรอยู่บ้าน หลีกเลี่ยงไปงานต่างๆ ที่มีการรวมตัวของผู้คนเยอะๆ พยายามใส่หน้ากาก และรักษาความสะอาดอยู่เสมอ 

เกาหลีใต้ไม่แบนการเดินทางจากต่างประเทศแต่ใช้กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองแบบพิเศษแทน สำหรับประเทศที่มีการติดโควิด-19 อย่างหนักในจีน จะมีทั้งการตรวจอุณหภูมิ ยืนยันข้อมูลที่อยู่และกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับสุขภาพ 

Kang Kyung-wha รัฐมนตรีต่างประเทศ เกาหลีใต้ เผยยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการรับมือโควิด-19 คือความโปร่งใส การให้ข้อมูลกับสาธารณชนเต็มที่ การมีระบบสาธารณสุขที่ดีก็ทำให้รับมือโควิด-19 ได้ดีด้วย ความเชื่อใจของประชาชนก็สำคัญ

Kang กล่าวว่า สิ่งสำคัญอย่างมากคือระบบการตรวจสอบ การตรวจสอบถือเป็นขั้นตอนอันดับต้นๆ ที่เราจะป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสได้ (เกาหลีใต้ตรวจสอบโรคราว 20,000 รายต่อวัน ค่าตรวจราว 4,500 บาทต่อคน) เว้นแต่คนที่ได้รับการอ้างอิงจากแพทย์หรือมีอาการหลังจากติดต่อกับคนที่ติดเชื้อแล้วหรือเพิ่งเดินทางกลับจากจีนจะสามารถตรวจฟรีได้ นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังเป็นที่แรกๆ ที่มีการให้ตรวจโรคแบบ drive-through แบบไม่ต้องลงจากรถอีกด้วย

ทั้งนี้ ช่วงกลางเดือนมกราคมที่มีการยืนยันการติดเชื้อจากจีน ทางสาธารณสุขเกาหลีใต้ก็เร่งหารือกับบริษัทที่ผลิตยาเพื่อผลิตชุดตรวจโรคขึ้นมาทันที

หลังจากคนไข้รายที่ 31 ปรากฎขึ้น ไวรัสก็แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว 

Kang Kyung-wha รัฐมนตรีต่างประเทศแห่งเกาหลีใต้กล่าว “มันไม่สำคัญว่าประเทศของฉันจะจัดการมันได้อย่างไร แต่สิ่งสำคัญก็คือ โลกจะต้องผ่านมันไปให้ได้” นับตั้งแต่มีคนติดเชื้อรายแรก จนวันนี้เกาหลีใต้มีคนติดเชื้อรวม 10,237 คน เสียชีวิต 183 คน รักษาหาย 6,463 คน

รัฐมนตรีต่างประเทศเล่าว่า เราจัดการตั้งแต่เริ่มต้น แต่การแพร่กระจายของไวรัสที่รวดเร็วมากสร้างความประหลาดใจให้เราเช่นกัน ซึ่ง 30 คนแรกที่ติดเชื้อโควิด เราจัดการอย่างรวดเร็ว จริงจัง แต่เมื่อถึงคนติดเชื้อรายที่ 31 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป คนไข้คนที่ 31 หรือ patient 31 คือคนที่เรียกกันว่าเป็น “superspreader” ของเกาหลีใต้ 

WASHINGTON, DC – SEPTEMBER 25: Kang Kyung-wha, South Korean Foreign Affairs Minister (Photo by Mark Wilson/Getty Images)

Patient 31 คนนี้คือหญิงสูงวัยอายุ 61 ปีก่อนจะได้รับการวินิจฉัยโรค เธอเดินทางไปหลายแห่งที่มีผู้คนอยู่หนาแน่นในเมืองแทกู และโซล เธอเข้าร่วมพิธีกรรมตามความเชื่อชินชอนจี (Shincheonji) เธอไปโรงพยาบาล  ไปโรงแรมเพื่อทานข้าวกับเพื่อน จนกระทั่งไข้ขึ้น ไม่กี่วันหลังจากเธอได้รับวินิจฉัยโรคว่าเป็นโควิด-19 ผู้คนที่เคยร่วมพิธีกรรมในโบสถ์ก็ตรวจพบติดเชื้อโควิดเป็นผลบวกนับร้อยราย

สิ่งแรกที่เกาหลีใต้ทำ หลังจากพบคนไข้รายที่ 31

Kang Kyung-wha กล่าวว่า การวางแผนสำคัญมาก เธอใช้วิธี “Joined-up response” คือการให้หน่วยงานรัฐรับมือร่วมกันทั้งหมด โดยนายกรัฐมนตรีตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจของทุกกระทรวงขึ้นมา กระจายอำนาจจากรัฐบาลไปสู่ท้องถิ่น 

จากนั้นเธอก็ยกตัวอย่างว่า ถ้ามีภูมิภาคใดที่โรงพยาบาลเตียงเต็ม คนไข้เต็มแล้ว เราจะขอให้จังหวัดอื่นๆ ที่ยังมีเตียงว่างรองรับผู้ป่วยแทน หากแพทย์ที่โรงพยาบาลไหนไม่เพียงพอต่อความต้องการ เราจะขอให้แพทย์จากโรงพยาบาลอื่นให้ความช่วยเหลือเพิ่ม

จากนั้น Kang Kyung-wha ก็อธิบายว่า การตรวจโรคสำคัญ ความเชื่อมั่นกันสำคัญที่สุด เธอบอกว่า ความสำเร็จของพวกเราคือ ความโปร่งใส และการที่สาธารณชนร่วมแชร์ข้อมูลของกันและกัน มันทำให้เห็นว่าไวรัสแพร่กระจายอย่างไร ทำให้เราได้เห็นข้อเสียทั้งหมด

ก่อนหน้านี้ในปี 2015 เกาหลีใต้ก็เคยมีประสบการณ์รับมือกับโรคเมอรส์มาแล้ว (MERS: Middle East Respiratory Syndrome) ซึ่งก็เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากโคโรนาไวรัสเช่นกัน  ช่วงนั้น เกาหลีใต้ติดเชื้ออยู่ที่ 185 ราย ทำให้เชื่อได้ว่าควรจะมีหน่วยงานส่วนกลางเพื่อรับมือกับโรคระบาดที่มาจากไวรัสนี้ ตอนนี้เกาหลีใต้ตรวจโรคไปแล้ว 350,000 คน คนป่วยได้รับการตรวจซ้ำๆ หลายครั้ง ก่อนจะปล่อยตัวออกไป 

เกาหลีใต้ไม่ปิดประเทศ แต่ปิดโรงเรียนแทน

Kang บอกว่า เกาหลีใต้ตั้งใจจะเปิดโรงเรียนให้กลับมาเรียนได้ปกติในวันที่ 6 เมษายน การศึกษาเป็นสิ่งที่สังคมเราให้ความสำคัญมาโดยตลอด เราเลื่อนการเปิดเรียนมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งทางการเตรียมทำทุกวิถีทางให้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ 

เธอตระหนักว่า เมื่อโรงเรียนเปิดให้มีการเรียนการสอนแล้ว ทุกอย่างจะไม่กลับมาปกติเหมือนก่อนหน้าที่ยังไม่มีไวรัสระบาด โควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนาน สิ่งที่เราต้องทำตอนนี้คือ ทำยังไงก็ได้ให้ตัวเลขมันคงที่ 

ประเด็นเรื่องไม่ปิดประเทศนั้น Kang กล่าวว่ามันเป็นความเชื่อมั่นที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย และรัฐบาลเรารับใช้ประชาชนที่เรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานสูงสุด เราตรวจสอบการเดินทางเข้าและออกประเทศอย่างเข้มข้น แม้จำนวนคนติดเชื้อต่ำลงแล้ว ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก 

Kang บอกว่าความโปร่งใสนั้นสำคัญ ไม่ใช่แค่ในประเทศแต่รวมถึงชุมชนระหว่างประเทศด้วย เกาหลีใต้ยังต้องพึ่งพาระหว่างประเทศสูงมาก นักธุรกิจต้องเดินทางสำหรับติดต่อธุรกิจกัน การไปมาหาสู่กันระหว่างครอบครัว รวมถึงการท่องเที่ยวด้วย เศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังต้องพึ่งพาโลกภายนอกอยู่ เราจำเป็นต้องเปิดกว้างเพื่อต้อนรับประเทศอื่นอยู่ 

เธอบอกว่า นี่คงไม่ใช่โรคระบาดครั้งสุดท้าย โรคระบาดที่ได้กลายเป็นปัญหาสุขภาพในระดับโลก เธอคิดว่าประสบการณ์และแนวทางในการจัดการโควิด-19 จะทำให้โลกเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดในครั้งต่อไปได้อีก

ที่มา – World Economic Forum, South China Morning Post, AlJazeera, BBC, CNN, CSSE JHU 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์