เกาหลีใต้เร่งสร้างเศรษฐีหน้าใหม่ หลังองค์กรใหญ่ส่งไม้ต่อลูกหลาน ทำประเทศขาด Entrepreneurship

เกาหลีใต้เป็นอีกประเทศที่สามารถสร้างสินค้าต่างๆ ไปตอบโจทย์คนทั่วโลก และเป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพ ทำให้ธุรกิจของพวกเขาเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่มันก็มีปัญหาหนึ่งที่อาจจะทำให้การเติบโตหยุดชะงัก นั่นคือการสืบทอดกิจการด้วยคนในครอบครัว

ภาพ pixabay.com

ขาดแคลน Entrepreneur ทำประเทศไม่ยั่งยืน

เมื่อตรวจสอบข้อมูลของ CEO Score พบว่า Samsung, Hyundai Motor, AmorePacific รวมถึงกลุ่ม SK ต่างมีเจ้าของกิจการที่สืบทอดมาจากคนในครอบครัวทั้งนั้น หรือจะเรียกว่ารวยมาจากพ่อแม่ทำมาดีก็ได้ ซึ่งแตกต่างจากประเทศชั้นนำอื่นๆ เช่นสหรัฐอเมริกาที่ล้วนแต่สร้างธุรกิจมาจากศูนย์ โดยเฉพาะกับ Microsoft ของ Bill Gates และฝั่งเอเชียก็มีอย่าง Jack Ma กับ Alibaba, Ma Huateng กับ Tencent และ Yanai Tadashi กับ Fast Retailing หรือที่รู้จักกันในแบรนด์ Uniqlo

และไม่ใช่แค่องค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น เพราะบริษัท หรือห้างร้านอื่นในเกาหลีใต้ก็ยังนิยมโอนถ่ายความเป็นเจ้าของให้กับลูกหลาน ซึ่งจุดนี้เองทำให้ประเทศพัฒนาได้อย่างไม่ยั่งยืน ผ่านการที่ทุกอย่างยึดติดอยู่กับตระกูลเดิมๆ และที่สำคัญคือไม่มีการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ในทางกลับกัน เจ้าของกิจการในประเทศอื่นๆ เริ่มมีการถ่ายทอดอำนาจให้กับคนอื่นในองค์กรบ้างแล้ว ไม่ใช่แค่ลูกหลานอย่างเดียว โดย Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoft บอกว่า การถ่ายโอนอำนาจให้บุตร ถือเป็นการปิดโอกาสเรียนรู้งานทันที เนื่องจากกว่าจะก้าวถึงจุดนี้ ต้องทำงานเงินเดือนน้อย และเรียนรู้อะไรอีกมาก

แชโบล คืออีกปัญหาในการขวางธุรกิจใหม่

Jang Ha-sung ศาสตรจารย์ ของ Korea University Business School มองว่า การที่เกาหลีใต้มี แชโบล หรือองค์กรขนาดใหญ่ราว 10 รายที่เป็นตัวขับเคลื่อนจีดีพีหลักของประเทศ เช่น Samsung, LG และ Hyundai ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างองค์กรแชโบลที่ร่ำรวย กับองค์กรขนาดเล็ก และถ้ามองในแง่ Entrepreneurship ก็เท่ากับองค์กรขนาดเล็ก หรือกลาง ไม่สามารถสร้างสรรค์อะไรมาแข่งกับองค์กรแชโบลได้ หรือถ้าแข่งก็ค่อนข้างยาก ดังนั้นถ้าไม่รีบแก้ไข หากแชโบลเหล่านั้นเกิดปัญหา ประเทศก็ไม่สามารถเติบโตได้

“เศรษฐีในเกาหลีใต้ 84 จาก 100 คน ร่ำรวยมาจากการได้รับมรดก หรือสืบทอดกิจการของครอบครัว ในทางกลับกันเศรษฐีในสหรัฐอเมริกามีถึง 78 จาก 100 คน ที่สร้างธุรกิจด้วยตนเอง เมื่อช่องว่างมันห่างกันขนาดนี้ ก็เป็นเรื่องยากที่เกาหลีใต้จะกลับมาขับเคลื่อนประเทศด้วยการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ในรุ่นของลูกหลาน ที่สำคัญเรื่องแชโบลนั้นก็แสดงให้เห็นถึงการผูกขาดธุรกิจ เช่น Top 100 บริษัทในเกาหลีใต้จะดึงกำไร 60% เข้าบริษัท และสร้างพื้นที่ให้กับแรงงานใหม่เพียง 4% ดังนั้นคงไม่แปลกที่จะบอกว่า Capitalism in Korea ตามชื่อหนังสือที่ผมเขียน”

สรุป

เมื่อประเทศชาติไม่มี Entrepreneurship โอกาสที่จะขับเคลื่อนตัวเองให้เติบโตก็ค่อนข้างยาก ซึ่งกรณีของเกาหลีใต้ก็คล้ายๆ กับไทยที่เกือบทั้งหมดถูกผูกขาดด้วยธุรกิจเพียงไม่กี่ราย และยังไม่เห็นโอกาสที่ธุรกิจระดับกลาง หรือรายเล็กจะไปแข่งขันได้ ดังนั้นการที่ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนให้เกิด Entrepreneurship เช่นการสร้าง Startup ก็เป็นเรื่องที่ถูก แต่ก็ต้องสนับสนุนอย่างต่อเนื่องด้วย

อ้างอิง // Korea lacks self-made billionaires like Gates, Ma 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา