อัตราการเกิดในเกาหลีใต้ลดลงอีกแม้จะต่ำที่สุดในโลกอยู่แล้ว คนไม่ยอมมีลูก มองเพิ่มภาระการเงิน

แม้ว่าเกาหลีใต้จะครองแชมป์ประเทศที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ (Fertility Rate) ต่ำที่สุดในโลกอยู่แล้ว แต่ตัวเลขก็ยังต่ำลงได้มากกว่าเดิมอีก

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเกาหลีใต้เผยว่า ค่าเฉลี่ยจำนวนเด็กที่คาดว่าจะเกิดจากผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ 1 คนลดลงเมื่อปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 0.72 จากเดิมในปี 2022 ที่อยู่ที่ 0.78 

ค่าเฉลี่ยในปี 2023 เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าจำนวนลูกต่อผู้หญิง 1 คนที่อยู่ที่ 2.1 ที่คาดหวังไว้เพื่อจะจะทำให้ประชากรในประเทศมีความสมดุล และต่ำกว่าอัตราการเกิดในปี 2015 ที่อยู่ที่ 1.24 ซึ่งเป็นช่วงที่ความกังวลเรื่องราคาที่พักอาศัยและการศึกษาน้อยกว่าในปัจจุบัน

ตั้งแต่ปี 2008 เกาหลีใต้เป็นเพียงประเทศเดียวที่เป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่า 1 ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินรวมหลายพันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อกระตุ้นให้คนมีลูกหลังจากที่ประชากรลดลงติดกัน 4 ปีมาจนถึงปี 2023

ทั้งนี้ เกาหลีใต้ยังเป็นสมาชิกของ OECD ที่มีช่องว่างรายได้ระหว่างผู้หญิงและผู้ชายมากที่สุด โดยผู้หญิงมีรายได้ประมาณ 2 ใน 3 ของรายได้ผู้ชาย ทำให้สาเหตุหนึ่งที่มีเด็กเกิดน้อยลงเพราะผู้หญิงต้องการหาความก้าวหน้าในการทำงาน รวมถึงการเลี้ยงดูเด็กต้องใช้เงินมาก ทำให้ผู้หญิงเลื่อนการมีลูกออกไปหรือตัดสินใจที่จะไม่มีลูกเลย

นอกจากความก้าวหน้าทางด้านอาชีพและปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ The Washington Post และ East Asia Forum ได้วิเคราะห์ไว้ว่า สังคมเกาหลีมีการกำหนดบทบาททางเพศไว้อย่างชัดเจน ว่าผู้หญิงจะต้องเป็นผู้ดูแลบ้านและงานบ้าน ดูแลลูก แม้ว่าจะต้องออกไปทำงานนอกบ้านด้วยก็ตาม แนวคิดมาจากแนวคิดแบบปิตาธิปไตยหรือสังคมชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกในเกาหลีใต้ว่าผู้หญิงจะต้องแต่งงานตั้งแต่ยังอายุน้อยเพื่อมีลูก

จากแนวคิดแบบปิตาธิปไตยในสังคมเกาหลีใต้ ทำให้หลายคนรวมทั้งประธานาธิบดี Yoon Suk-yeol มองว่า สิ่งที่ขัดขวางการมีลูกมาจากแนวคิดแบบเฟมินิสต์หรือการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศเป็นสิ่งที่ “ทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ชายและผู้หญิง” ซึ่งในการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิผู้หญิงก็ได้มีการชูป้ายปฏิเสธการเป็น “เครื่องจักรผลิตลูก” ด้วย

นอกจากนี้ ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งก็มาจากความรุนแรงจากความสัมพันธ์และความรุนแรงภายในครอบครัว พอประกอบกับการต้องทุ่มเทเงินและเวลาไปกับการศึกษาของเด็กท่ามกลางความกดดันทางเศรษฐกิจเลยทำให้ผู้หญิงไม่ต้องการแต่งงานและมีลูก

ก่อนหน้านี้ เกาหลีใต้คาดการณ์ไว้ว่าอัตราการเกิด (อัตราการเจริญพันธุ์) น่าจะลดต่ำลงกว่านี้อยู่ที่ 0.68 ในปี 2024 ขณะที่ในปี 2023 กรุงโซลซึ่งเป็นพื้นที่ที่ราคาที่พักอาศัยพุ่งสูงที่สุด มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดอยู่ที่ 0.55

วิกฤติทางด้านประชากรของเกาหลีใต้กลายเป็นความเสี่ยงอันดับแรกต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและระบบประกันสังคมที่ประชากรของประเทศ 51 ล้านคนจะหลุดออกจากระบบภายในช่วงสิ้นสุดศตวรรษนี้ (ปี 2001)

ที่มา – CNA, The Washington Post, East Asia Forum

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา