เรียกว่าเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าไทยที่เก่าแก่อีกรายสำหรับ Sonar เพราะอยู่มาถึง 45 ปี และถ้าจะเอาเก่ากว่านี้ก็คงเหลือแค่ ธานินทร์ หายไปจากตลาดแล้ว ยิ่งตอนนี้ Sonar ถึงเวลาส่งไม้ต่อให้รุ่นสอง แบรนด์นี้จึงเป็นกรณีศึกษาอย่างดีในการทำธุรกิจ
ชูแบรนด์ไทยขยายฐานลูกค้าเพื่อนบ้าน
ในการยืนหยัดทำธุรกิจมา 45 ปี ทาง Sonar ได้ชูจุดเด่นเรื่องความเป็นแบรนด์ไทยมาโดยตลอด ผ่านการแสดงสัญลักษณ์ว่าเป็นแบรนด์ของคนไทยอย่างชัดเจน เพราะเชื่อว่าความเป็นสินค้าไทย ผู้บริโภคชาวไทยน่าจะชื่นชอบ และตัดสินใจซื้อ ยิ่งถ้าเทียบราคากับความคุ้มค่า แบรนด์ไทยก็กินขาดอินเทอร์แบรนด์แน่นอน โดยมีสินค้า 5 หมวดคือ ความบันเทิงภายในบ้าน (โทรทัศน์), เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก, เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่, สินค้า Lifestyle และสุดท้ายคือเครื่องเสียง Professional รวมทั้งหมดกว่า 2,000 รายการที่จำหน่ายอยู่ตอนนี้
พิจิตรา เรืองวัฒนไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซน่าร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้เข้ามารับตำแหน่งบริหารเต็มตัว ถือเป็นรุ่นที่สองของการทำธุรกิจ โดยเตรียมแผนเปลี่ยนแปลงองค์กรจากแค่จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นองค์กรที่นำ Lifestyle มาประยุกต์กับการสร้างสินค้าเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบัน และเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าตั้งแต่กลางถึงล่าง เพราะกลุ่มนี้เน้นเรื่องความคุ้มค่าเป็นหลัก เช่นการออกแบบหม้อต้มสุกี้พร้อมเตาชาบู หรือเครื่องทำขนมบิงซู และเครื่องซักผ้าขนาดเล็กที่ถูกพัฒนามาจากความต้องการบนโลก Social Media
“จากนี้ Sonar ไม่ได้มองว่าแบรนด์คู่แข่งต่างชาติจะผลิตอะไรออกมา เพื่อทำสินค้าออกมาแข่ง เพราะจะใช้โลกออนไลน์ รวมถึงความต้องการของผู้บริโภคยุคนี้มาออกแบบ รวมถึงชูเรื่องความเป็นไทย และศูนย์บริการที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งจุดนี้เองทำให้แบรนด์ Sonar ไม่ได้นิยมในไทยเท่านั้น แต่ยังจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้านได้ดีอีกด้วย โดยเฉพาะกับลาว และกัมพูชา โดยเราตั้งเป้าหลังจากนี้ 5 ปีต้องขึ้นเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ไทยอันดับ 1 ให้ได้ พร้อมกับแข่งขันกับแบรนด์จีน และเกาหลีที่ Dominate ตลาดอยู่ตอนนี้ได้อย่างสูสี”
ปูพรมทุกช่องทางสร้างโอกาสรายได้
ขณะเดียวกัน Sonar ยังปรับแผนการจัดจำหน่ายใหม่ จากเดิมที่เน้นดีลเลอร์ทั้งรายใหญ่ และรายย่อย เช่น Modern Trade และ Hypermarket รวมถึงตัวแทนจำหน่ายตามต่างจังหวัด ก็จะเพิ่มช่องทาง Ecommerce และรายการโทรทัศน์เข้ามามากขึ้น เพราะทั้งสองช่องทางใหม่นั้นเริ่มเข้ามามีบทบาทกับการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ซึ่งล่าสุดบริษัทได้ทำเว็บไซต์ sonarshopping.com เพื่อต่อยอดการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ หลังจากร่วมกับเว็บไซต์อื่นๆ มาก่อน เช่น Lazada WeMall และ 11Streets
“ช่วงนี้ตลาดเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ไม่ใช่แค่ฝั่งช่องทางจำหน่าย แต่ฝั่งแบรนด์ต่างๆ เองก็เปลี่ยน สังเกตจากตอนนี้จีน กับเกาหลีเข้ามาครองตลาดไทยชัดเจน ส่วนฝั่งญี่ปุ่นนั้นเริ่มมีที่ยืนน้อยลง ส่วนแบรนด์ไทยนั้น ถ้าใครไม่ปรับก็จะอยู่ยากขึ้น ถึงตอนนี้จะมีแบรนด์ไทยบางรายพยายามขึ้นมาทำตลาดก็ตาม แต่ก็ยอมรับว่าสินค้าของเราไม่ได้ผลิตเองทั้งหมด บางสินค้าก็มีสั่งชิ้นส่วนเข้ามาประกอบ บางสินค้าก็นำเข้ามาเลย เพราะมองถึงความคุ้มค่าในการลงทุน แต่ปีนี้เราจะเปิดตัวสินค้า 90 รายการใหม่ จากเดิมเปิดตัวปีละ 30-40 รายการ โดยหนึ่งในตัวสำคัญคือสินค้าแบรนด์ Sonar Easy Cool ที่มาจับตลาดหน้าร้อน”
โต 20% พร้อมเข้าระดมทุนในตลาดอีก 5 ปี
สำหรับรายได้ในปีนี้ Sonar ตั้งเป้าเติบโตที่ 20% จากปี 2559 ที่ปิดไปได้ 500 ล้านบาท มาจากสินค้าแบรนด์ Sonar 80% สินค้าแบรนด์อื่นๆ กว่า 30 แบรนด์ 10% และธุรกิจรับผลิตสินค้า หรือ OEM อีก 10% ส่วนถ้าแบ่งตามช่องทางจำหน่ายจะเป็นตัวแทนจำหน่าย 35% โมเดิร์นเทรด 20% ออนไลน์ 15% ทีวีช็อปปิ้ง 15% และแค็ตตาล็อก 15% ซึ่งปีนี้จะมีการลงทุนโรงงานใหม่ จากที่มีอยู่แล้ว 2 โรง เพื่อผลิตสินค้าหมวดเครื่องเย็น โดยจะเริ่มไลน์ผลิตในปี 2561 ที่สำคัญภายใน 5 ปีบริษัทเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อต่อยอดทางธุรกิจด้านอื่นๆ ด้วย
สรุป
การส่งไม้ต่อเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ แต่ไม้ต่อนั้นจะเดินทางไปอย่างไรอันนี้คือเรื่องน่าจับตา และแบรนด์ไทยอย่าง Sonar ที่มีประวัติยาวนานถึง 45 ปี ก็น่าจะมีโอกาสอยู่รอดไปได้ในระยะยาว เพราะสังเกตจากการปรับเรื่องช่องทางให้หลากหลายขึ้น ไม่ผูกติดกับช่องใดช่องหนึ่ง ประกอบกับการเอา Pain Point ของผู้บริโภคมาประยุกต์กับสินค้าก็น่าจะเป็นทางออกที่ในตอนนี้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา