กระทรวงพลังงาน เปิดรับซื้อไฟฟ้า “โซลาร์ภาคประชาชน” เริ่ม 24 พ.ค. นี้

ก่อนเริ่มต้นลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ ลองมาอ่านเงื่อนไขว่าภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าอย่างไร?

กกพ. เปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จากประชาชน เริ่มเฟสแรก 100 เมกะวัตต์

ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่า จากควมร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดตัวโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” โดยจะรับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนที่ทำ Solar Rooftop (การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา) และเริ่มรับสมัคร 24 พ.ค. 2562 นี้

ทั้งนี้ กกพ. ประกาศหลักเกณฑ์และคุณสมบัติผู้ที่มีสิทธิสมัครเข้าโครงการ ไว้แล้ว โดยมีรายละเอียอดหลักๆ ได้แก่

  • เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าด้วย Solar Roof เพื่อใช้เอง (ส่วนที่เหลือใช้นำมาขายกับการไฟฟ้า) มีกำลังผลิตติดตั้งครัวเรือนละไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp)
  • อัตราราคารับซื้อไฟฟ้า ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย
  • ระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้ารวม 10 ปี

เสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) บอกว่า  ปี 2562 โครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ได้กาหนดเป้าหมายปริมาณรับซื้อรวม 100 เมกกะวัตต์ แบ่งพื้นที่ดาเนินการออกเป็น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 30 เมกกะวัตต์ ใน 3 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, สมุทรปราการ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 70 เมกกะวัตต์ ใน 74 จังหวัด

“ประชาชนที่สนใจ Solar Rooftop ต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดทั้งผลประโยชน์ จุดคุ้มทุน โดยดูจากพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก ถ้าที่บ้านใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมาก ย่อมมีจุดคุ้มทุนเร็วกว่า เน้นเรื่องการผลิตใช้เอง จะประหยัดค่าไฟประมาณ 3.80 บาทต่อหน่วย ถ้าเหลือถึงขายไฟฟ้าได้อยู่อัตราไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 10 ปี”

กระบวนการสมัครและคัดเลือกเข้าโครงการ

ผู้สนใจสามารถยื่นขอขายไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์  ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. 2562 สิ้นสุดภายในปีนี้ (ไม่ได้ระบุวัน คาดว่าถ้าได้ผู้ขายครบตามจำนวนจะปิดการรับสมัคร) ได้แก่
เว็บไซต์ ของ กฟน. :  https://spv.mea.or.th
เว็บไซต์ของ กฟภ.  : https://ppim.pea.co.th

ทั้งนี้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะคัดเลือกและทยอยประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณา ทางเว็บไซต์ของการไฟฟ้า และส่งผลการสมัครให้ทางE-mail ที่ได้แจ้งไว้ โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2562 เป็นต้นไป หลังจากนั้นจะต้องลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา