ปลายทางของธุรกิจสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ๆ คือการขายกิจการให้บริษัทอื่น หรือไม่ก็ขายหุ้น IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ระหว่างทางกว่าจะไปถึงจุดนั้น การระดมเงินทุนเพื่อขยายกิจการก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน
ระยะแรกของสตาร์ตอัพ สามารถระดมเงินทุนก้อนแรกๆ (seed money) จากนักลงทุนที่เรียกว่า angel investor และหลังจากนั้นก็ค่อยขยับไปรับเงินจากบริษัทลงทุนที่เรียกว่า venture capital (VC)
แต่ในระยะต่อจากนั้น เมื่อต้องการเงินก้อนใหญ่ขึ้น การรับเงินลงทุนจากบริษัทขนาดใหญ่ (ที่ต้องการเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม) ย่อมเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
หนึ่งในบริษัทระดับโลกที่วิ่งออกมาลงทุนในสตาร์ตอัพค่อนข้างเยอะในช่วงหลังคือ SoftBank โอเปอเรเตอร์รายใหญ่รายหนึ่งของญี่ปุ่น ซึ่งตอนหลังขยับขยายไปซื้อกิจการ Sprint โอเปอเรเตอร์อันดับสามของสหรัฐอเมริกามาอีกบริษัท
ในเอกสารเผยผลประกอบการทางการเงินของ SoftBank ปีล่าสุด (ออกมาในเดือนพฤษภาคม 2016) มีสรุปแนวทางการลงทุนในสตาร์ตอัพของ SoftBank อยู่ด้วย ทาง Brand Inside จึงนำข้อมูลส่วนนี้มาฝากกัน
SoftBank มองว่ามีบริษัทหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นในประเทศเกิดใหม่ (emerging market) และใช้ประโยชน์จากโมเดลธุรกิจแบบใหม่ๆ บนเทคโนโลยี mobile/cloud การเปลี่ยนผ่านเหล่านี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมทุกประเภท
เทคโนโลยีที่ SoftBank ให้ความสนใจได้แก่เรื่อง AI, รถยนต์ไร้คนขับ, โลกเสมือนจริง Virtual/Augmented Reality และ Internet of Things (IoT)
อย่างไรก็ตาม SoftBank ก็ประเมินว่าการลงทุนในสตาร์ตอัพรอบปีที่ผ่านมา เริ่มอิ่มตัว เพราะบริษัทที่ขายหุ้น IPO มีน้อยลง หรือที่ขายหุ้นได้สำเร็จก็ได้ราคาไม่ดีนัก นอกจากนี้ยังมีเรื่องการระดมทุนนอกตลาด ที่มูลค่าบริษัทจากการระดมทุนไม่เพิ่มขึ้น (flat round) หรือบางครั้งลดลง (down round) ด้วยซ้ำ
SoftBank มองว่าสถานการณ์นี้กลับเป็นโอกาสของบริษัทเอง เพราะบริษัทมีเงินทุนเยอะ มีขนาดใหญ่และเป็นบริษัทที่มีธุรกิจข้ามชาติ การลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพที่มีอนาคต จึงสามารถใช้จุดแข็งของ SoftBank ว่ามีตัวตนอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐ เข้ามาช่วยต่อยอดธุรกิจของสตาร์ตอัพในเชิงการดำเนินการ (operational value-add) ได้ด้วย ไม่ใช่แค่การอัดเงินทุนเพียงอย่างเดียวแล้วจบกันไป
ปัจจุบัน SoftBank มีบริษัทสตาร์ตอัพที่ลงทุนเอาไว้ แยกเป็น 4 หมวดคือ อีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) การคมนาคม (Transportation) เกมและมีเดีย (Games & Media) และการเงิน (FinTech)
ในกลุ่มอีคอมเมิร์ซ SoftBank ไปลงทุนในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของประเทศเกิดใหม่หลายราย ได้แก่
- Alibaba (จีน)
- Snapdeal (อินเดีย)
- Coupang (เกาหลีใต้)
- Tokopedia (อินโดนีเซีย)
นอกจากนี้ยังมีการลงทุนใน Oyo เว็บจองโรงแรมรายใหญ่ของอินเดียด้วย จะเห็นว่ามุมมองของ SoftBank คือวิ่งเข้าไปลงทุนในเว็บคอมเมิร์ซของประเทศเกิดใหม่ ที่มีการเติบโตสูง และประชากรหันมาทำธุรกรรมการซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ต mobile
กลุ่มของ Transportation ก็มีทิศทางคล้ายๆ กันคือ SoftBank ไปลงทุนในบริษัทเรียกรถแท็กซี่เกือบทุกรายในเอเชีย ที่เป็นคู่แข่งกับ Uber ในประเทศของตนเอง ได้แก่ Ola (อินเดีย), Grab (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และ Didi Chuxing (จีน) ด้วยเหตุผลเดียวกันว่าเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก
กรณีของ Grab นั้น SoftBank ลงเงินหนักถึง 250 ล้านดอลลาร์ กลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของ Grab ด้วยซ้ำ
ธุรกิจเกมและมีเดีย (Games & Media) อันนี้ล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลงจากในสไลด์อยู่บ้าง เพราะล่าสุด SoftBank ขายหุ้นใน GungHo และ Supercell ออกไปแล้ว
กรณีของ Supercell บริษัทเกมจากฟินแลนด์ เจ้าของเกมดังอย่าง Clash of Clans ที่ยังเป็นเกมมือถือยอดนิยมอันดับหนึ่งในตลาดโลกต่อไป บริษัทนี้ SoftBank เข้าไปถือหุ้นมานานแล้ว และขายออกไปให้กับ Tencent บริษัทไอทีของจีนที่มีธุรกิจด้านเกมด้วย ในมูลค่ารวมที่อาจสูงถึง 10.2 พันล้านดอลลาร์
ส่วน GungHo เป็นบริษัทเกมมือถือของญี่ปุ่น เป็นเจ้าของเกมดัง Puzzle & Dragons ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในญี่ปุ่น และเป็นบริษัทแม่ของ Gravity บริษัทเกมเกาหลีผู้พัฒนาเกม Ragnarok Online ด้วย บริษัทนี้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นอยู่แล้ว และ SoftBank เพิ่งขายหุ้นคืนให้กับ GungHo ด้วยมูลค่า 685 ล้านดอลลาร์
รายสุดท้ายคือ Hike Messenger แอพแชทที่เป็นบริษัทร่วมทุนของ Bharti โอเปอเรเตอร์รายใหญ่ของอินเดีย และ SoftBank ถือเป็นแอพแชทอีกตัวที่ได้รับความนิยมในอินเดีย และมีผู้ใช้มากกว่า 100 ล้านคนแล้ว
กลุ่มสุดท้ายคือธุรกิจด้านการเงิน (FinTech) ซึ่ง SoftBank เพิ่งขยับเข้ามาลงทุนเพียงบริษัทเดียวคือ Social Finance (SoFi) สตาร์ตอัพที่ทำเรื่องเงินกู้เพื่อการศึกษา (student loan) ในสหรัฐอเมริกา โดย SoftBank เพิ่งขยับเข้าไปลงทุนเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา
กล่าวโดยสรุป จากแนวทางการลงทุนของ SoftBank จะเห็นว่าบริษัทขยับเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่ใช้โมเดลใหม่ โดยอิงอยู่บนเทคโนโลยี mobile/cloud (คอมเมิร์ซ เรียกรถ เกม และการเงิน) และเน้นการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา ที่มีประชากรจำนวนมาก และมีโอกาสเติบโตสูง
สตาร์ตอัพไทยรายใดที่มองว่าตัวเองอยากฝันไกลไปให้ถึงบริษัทระดับนี้ อาจดูเป็นแนวทางได้ว่าการเติบโตไปในทิศทางแบบไหน ที่จะได้รับความสนใจจากบริษัทระดับโลกอย่าง SoftBank กัน
ที่มา – เอกสารผลประกอบการของ SoftBank FY2015
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา