รู้จัก “Soft Saving” พฤติกรรมการเงินของคนรุ่นใหม่ ไม่รัดเข็มขัดเกินไปเพื่ออนาคต แต่ใส่ใจกับคุณภาพชีวิตปัจจุบัน

คนแต่ละรุ่นต่างมีแนวคิดในเรื่องต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน เรื่องเงินทองก็เช่นกัน คนรุ่นใหม่ไม่ได้หักโหมเก็บเงินให้มีเงินมหาศาลในบัญชี แต่ใส่ใจกับคุณภาพชีวิตในปัจจุบัน 

“Soft Saving” เป็นเทรนด์การเงินในหมู่คนใหม่ที่เก็บเงินไว้ใช้ในอนาคตน้อยลงเพื่อใช้เงินในปัจจุบันให้มากขึ้นเพราะหาประสบการณ์และสร้างคุณภาพชีวิต

รายงาน Prosperity Index Study จาก Intuit บริษัทซอฟต์แวร์ด้านการเงินรายใหญ่เผยว่า Gen Z เป็นผู้นำพฤติกรรมการเงินแบบนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางชีวิตแบบ Soft Life ที่ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายและความกดดันที่ลดลง หันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเองและสุขภาพจิตที่ดีแทน

เก็บเงินน้อยลง

รายงานเผยว่า 3 ใน 4 ของกลุ่ม Gen Z อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่ามีเงินเก็บมหาศาล ซึ่งสะท้อนความต้องการที่จะออกจากกรอบการใช้จ่ายเงินที่จำกัด

ข้อมูลจากสำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาพบว่า ชาวอเมริกันเก็บเงินน้อยลงในปี 2023 โดยสัดส่วนของเงินที่แบ่งเก็บจากรายได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญมาอยู่ที่ 3.9% ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 8.51% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ส่วนสาเหตุที่ชาวอเมริกันเก็บเงินน้อยลงมาจากการใช้จ่ายเงินที่น้อยลงในช่วงโควิดที่กินระยะเวลา 2-3 ปี พอสถานการณ์เริ่มบรรเทาลง คนก็หันมาใช้เงินกันมากขึ้น ขณะที่สาเหตุอีกอย่าง คือ ภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ต้องใช้เงินมากขึ้นกว่าเดิมถึงจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในชีวิต

นอกจากนี้ การที่คนเก็บเงินน้อยลงยังสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของการตั้งเป้าหมายด้านการเงินในหมู่คนทำงานโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานที่จัดลำดับความสำคัญเรื่องเงินต่างจากเดิม และมุ่งหาสมดุลระหว่างการทำงานเสริมเพื่อให้ได้เงินมากับการใช้เงินที่ได้เพิ่มมานี้เพื่อให้ใช้ชีวิตสนุกมากขึ้น

ทำงานไปเรื่อย ๆ ไม่มีแผนเกษียณ

จากเดิมเมื่อนึกถึงการทำงาน คนส่วนใหญ่อาจนึกถึงการเกษียณที่เหมือนเป็นหมุดหมายจุดสิ้นสุดชีวิตการทำงาน แต่หลายคนกลับมีความกังวลว่าตัวเองจะไม่ได้เกษียณเลย

รายงานจาก Blackrock บริษัทจัดการการลงทุนของสหรัฐอเมริกาพบว่าในปี 2023 มีคนทำงานแค่ 53% เชื่อว่าพวกเขามีความเป็นไปได้ที่จะเกษียณอายุและได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณตามที่ต้องการ เพราะมาจากการขาดรายได้มารองรับในช่วงเกษียณอายุ ความผันผวนของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อต่างเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนต่างไม่มั่นใจว่าจะเกษียณได้อย่างที่ต้องการหรือไม่

แนวคิดแบบนี้เกิดขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่เช่นกัน โดย 2 ใน 3 ของกลุ่ม Gen Z ไม่แน่ใจว่าจะมีเงินเพียงพอที่จะหยุดทำงานได้ อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลนี้อาจจะน่ากังวลน้อยกว่าสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการที่จะเกษียณตั้งแต่ยังอายุน้อย บางคนก็ไม่ได้ต้องการจะหยุดทำงานเลยด้วยซ้ำ

ผลการศึกษาจาก Transamerican Center for Retirement ยังเผยให้เห็นอีกว่า ครึ่งหนึ่งของคนทำงานคาดว่าจะทำงานเกินอายุ 65 ปีหรือไม่ก็ไม่มีแผนที่จะหยุดทำงานเลย

นิยามของคำว่าเกษียณอายุยังเปลี่ยนไปตามคนแต่ละรุ่นด้วย คน Gen Z 41% และ Gen Y 44% (อายุระหว่าง 27-42 ปีในปัจจุบัน) ยังอาจต้องการทำงานบางอย่างที่ได้เงินในช่วงของการเกษียณอายุแล้ว ซึ่งต่างจากคน Gen X และ Baby Boomers ที่มีอยู่เพียง 31% และ 21% ตามลำดับ

แม้ว่าการชื่นชอบที่จะมีรายได้ไปตลอดชีวิตอาจจะทำให้แนวคิดเรื่องการเกษียณดูล้าหลังได้ในอนาคต แต่คน Gen Z ยังคงเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มีแผนเก็บเงินหลังเกษียณที่เรียกว่า 401(K) จากกองทุนเกษียณของสหรัฐอเมริกา

ใช้เงินซื้อความสุข

เมื่อคนรุ่นใหม่ใช้เงินมากขึ้นและเก็บน้อยลง รายงานพบกว่าคนกลุ่มนี้จะเต็มใจมากกว่าที่จะใช้เงินไปกับงานอดิเรกและสิ่งของที่ไม่จำเป็นเมื่อเทียบกับกลุ่ม Gen X และ Baby Boomers ซึ่งสิ่งที่ไม่จำเป็นนี้ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำที่การท่องเที่ยวและความบันเทิง

47% ของกลุ่ม Gen Y และ 40% ของกลุ่ม Gen Z ต้องการเงินเพื่อนำไปใช้กับงานอดิเรกและสิ่งที่สนใจ มากกว่ากลุ่ม Gen X และ Baby Boomers ที่มีอยู่อยู่เพียง 32% และ 20% ตามลำดับ

Andy Reed หัวหน้าฝ่ายพฤติกรรมการใช้งานของบริษัทการจัดการการลงทุน Vanguard กล่าวว่า กลุ่ม Gen Z ใช้จ่ายกับความบันเทิงเพิ่มขึ้นจนถึง 4.4% ในปี 2022 เทียบกับ 3.3% ในปี 2019

ทั้งนี้ แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะเก็บเงินน้อยลงแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้เงินแบบเดือนชนเดือน ที่จริงแล้วยังใช้จ่ายอยู่ภายในรายได้ที่ได้รับ และการใช้เงินที่มากขึ้นก็สะท้อนว่ามาจากราคาของสินค้าที่จำเป็นที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าที่จะมาจากรสนิยมการใช้ของหรูหรา

ที่มา – CNBC

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา