Social Commerce กับ E-Marketplace ใครจะอยู่ ใครจะไป หรือต้องเชื่อมกัน

e-commerce-402822_1920

ตัวเลขอีคอมเมิร์ซ 2.5 ล้านล้านบาทในปีนี้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นตลาดออนไลน์ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า หนึ่งในตัวเลขนั้นมาจาก Social Commerce (โซเชียลคอมเมิร์ซ) 2 แสนล้านบาท ถ้าเยอะขนาดนี้ แล้วกลุ่มที่ทำ E-Marketplace (อี – มาร์เก็ตเพรส) จะต้องปรับอะไรบ้าง

COL พร้อมบุก Social Commerce

ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ และเทคโนโลยี กลุ่มธุรกิจเซ็นทรัลออนไลน์ บมจ.ซีโอแอล ยืนยันว่า อยู่ระหว่างจัดทำแพลตฟอร์มช่วยเหลือ Social Commerce เพื่อเติมเต็มธุรกิจ จากเดิมสร้างเว็บไซต์ E-Marketplace ให้กับธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล เช่น central.co.th, powerbuy.co.th และ officemate.co.th เพราะการใช้งานเว็บไซต์มาจากโมบาย 60 – 70% และมาจาก Social เกือบทั้งหมด

“เฟสที่สองจะมีบริการเกี่ยวกับ Social Commerce ออกมาแน่อน ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัล เหตุผลมาจากการที่กลุ่มเซ็นทรัลไปคุยกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อนำสินค้ามาขายแบบเอ็กซ์คลูซีฟภายในห้าง แต่พอวางขายแค่วันเดียว หรือบางทียังไม่วางขาย ก็มีสินค้าอยู่บน Social ต่างๆ แล้ว และเราก็ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นถ้ายังอยากมีรายได้จากส่วนนี้ การสร้างเครื่องมือเกี่ยวกับ Social Commerce จึงจำเป็น”

screen-shot-2559-10-02-at-2-00-35-pm

Garena ดึงบริการเกี่ยวข้องยกระดับ

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า เห็นเทรนด์ Social Commerce มาระยะหนึ่งแล้ว จึงสร้างบริการ Shopee ขึ้นมา จนมีผู้ใช้ในประเทศไทยเกือบ 4 ล้านไอดีในสิ้นปีนี้ พร้อมกับนำบริการ Shopee ไปให้บริการทุกประเทศใน Asean เพราะผู้บริโภคในพื้นที่นี้มีพฤติกรรมซื้อสินค้าออนไลน์ผ่าน Social Commerce เหมือนกัน

ทั้งนี้พฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคใน Asean เหมือนกัน เพราะเกือบทุกคนเข้าถึง Internet ครั้งแรกผ่าน Smartphone หรือ Tablet และชื่นชอบการซื้อสินค้าแบบง่ายๆ หรือการคุยกับคน และยินดีที่ชำระเงินก่อนเห็นสินค้า แต่มันไม่ปลอดภัย การีนา จึงสร้างระบบกักเงินจนกว่าผู้ซื้อจะได้สินค้า และเจรจากับระบบขนส่งต่างๆ เช่นในประเทศไทยได้คุยกับไปรษณีย์ไทย เพื่อทำโปรโมชั่นต่างๆ ร่วมกัน

screen-shot-2559-10-02-at-2-02-23-pm

ภาวุธ ย้ำอยากโตกว่านี้ต้องออกจาก Social

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerece) ประเทศไทย มองว่า ข้อจำกัดของ Social Commerce คือขยายไปต่างประเทศได้ยาก ผ่านข้อจำกัดเรื่องภาษา, การสื่อสาร และการขนส่ง จนกลุ่ม Social Commerce สุดท้ายก็ต้องกลับมาโฟกัสที่การสร้างเว็บไซต์อยู่ดี ที่สำคัญบางสินค้าเท่านั้นที่เหมาะสมกับ Social Commerce เช่นเสื้อผ้า แต่ถ้าเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่คงไม่เหมาะ

ขณะเดียวกันจากการคุยกันภายในสมาคมยังพบว่า มูลค่าการซื้อขายผ่าน E-Marketplace มีเพียงหลักหมื่นล้านบาท ต่างกับโซเชียลคอมเมิร์ซ 2 แสนล้านบาท ที่ยังไม่รู้ว่ามีมากกว่านี้อีกหรือไม่ ดังนั้นการสร้างบริการเติมเต็ม หรือ Fulfillment ให้กับ  Social Commerce น่าจะเป็นเรื่องที่สร้างรายได้ให้กับธุรกิจเกิดใหม่มากกว่า เพราะด้วยยอดขายขนาดนี้ ผู้ค้า Social ยังรอผู้ช่วยทางธุรกิจ เช่นระบบบิล และขนส่งอยู่

img_8427
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerece) ประเทศไทย

สรุป

Social Commerce คงเป็นฐานหลักของ E-Commerce ในฝั่งค้าปลีกสินค้าต่างๆ ในประเทศไทยไปอีกระยะหนึ่ง และคงต้องรออีกซักพัก ผู้บริโภคในไทยถึงจะก้าวสู่การซื้อสินค้าออนไลน์แบบปลอดภัย 100% แต่ถ้าอยากให้เร็วขึ้น หน่วยงานรัฐก็มีส่วนในการยกระดับเรื่องนี้ ผ่านการดึงร้านออนไลน์ต่างๆ มาขึ้นทะเบียน พร้อมกับสร้างแพลตฟอร์มกลางเพื่อช่วยกันตรวจสอบ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา