ตัวเลขอีคอมเมิร์ซ 2.5 ล้านล้านบาทในปีนี้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นตลาดออนไลน์ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า หนึ่งในตัวเลขนั้นมาจาก Social Commerce (โซเชียลคอมเมิร์ซ) 2 แสนล้านบาท ถ้าเยอะขนาดนี้ แล้วกลุ่มที่ทำ E-Marketplace (อี – มาร์เก็ตเพรส) จะต้องปรับอะไรบ้าง
COL พร้อมบุก Social Commerce
ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ และเทคโนโลยี กลุ่มธุรกิจเซ็นทรัลออนไลน์ บมจ.ซีโอแอล ยืนยันว่า อยู่ระหว่างจัดทำแพลตฟอร์มช่วยเหลือ Social Commerce เพื่อเติมเต็มธุรกิจ จากเดิมสร้างเว็บไซต์ E-Marketplace ให้กับธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล เช่น central.co.th, powerbuy.co.th และ officemate.co.th เพราะการใช้งานเว็บไซต์มาจากโมบาย 60 – 70% และมาจาก Social เกือบทั้งหมด
“เฟสที่สองจะมีบริการเกี่ยวกับ Social Commerce ออกมาแน่อน ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัล เหตุผลมาจากการที่กลุ่มเซ็นทรัลไปคุยกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อนำสินค้ามาขายแบบเอ็กซ์คลูซีฟภายในห้าง แต่พอวางขายแค่วันเดียว หรือบางทียังไม่วางขาย ก็มีสินค้าอยู่บน Social ต่างๆ แล้ว และเราก็ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นถ้ายังอยากมีรายได้จากส่วนนี้ การสร้างเครื่องมือเกี่ยวกับ Social Commerce จึงจำเป็น”
Garena ดึงบริการเกี่ยวข้องยกระดับ
มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า เห็นเทรนด์ Social Commerce มาระยะหนึ่งแล้ว จึงสร้างบริการ Shopee ขึ้นมา จนมีผู้ใช้ในประเทศไทยเกือบ 4 ล้านไอดีในสิ้นปีนี้ พร้อมกับนำบริการ Shopee ไปให้บริการทุกประเทศใน Asean เพราะผู้บริโภคในพื้นที่นี้มีพฤติกรรมซื้อสินค้าออนไลน์ผ่าน Social Commerce เหมือนกัน
ทั้งนี้พฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคใน Asean เหมือนกัน เพราะเกือบทุกคนเข้าถึง Internet ครั้งแรกผ่าน Smartphone หรือ Tablet และชื่นชอบการซื้อสินค้าแบบง่ายๆ หรือการคุยกับคน และยินดีที่ชำระเงินก่อนเห็นสินค้า แต่มันไม่ปลอดภัย การีนา จึงสร้างระบบกักเงินจนกว่าผู้ซื้อจะได้สินค้า และเจรจากับระบบขนส่งต่างๆ เช่นในประเทศไทยได้คุยกับไปรษณีย์ไทย เพื่อทำโปรโมชั่นต่างๆ ร่วมกัน
ภาวุธ ย้ำอยากโตกว่านี้ต้องออกจาก Social
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerece) ประเทศไทย มองว่า ข้อจำกัดของ Social Commerce คือขยายไปต่างประเทศได้ยาก ผ่านข้อจำกัดเรื่องภาษา, การสื่อสาร และการขนส่ง จนกลุ่ม Social Commerce สุดท้ายก็ต้องกลับมาโฟกัสที่การสร้างเว็บไซต์อยู่ดี ที่สำคัญบางสินค้าเท่านั้นที่เหมาะสมกับ Social Commerce เช่นเสื้อผ้า แต่ถ้าเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่คงไม่เหมาะ
ขณะเดียวกันจากการคุยกันภายในสมาคมยังพบว่า มูลค่าการซื้อขายผ่าน E-Marketplace มีเพียงหลักหมื่นล้านบาท ต่างกับโซเชียลคอมเมิร์ซ 2 แสนล้านบาท ที่ยังไม่รู้ว่ามีมากกว่านี้อีกหรือไม่ ดังนั้นการสร้างบริการเติมเต็ม หรือ Fulfillment ให้กับ Social Commerce น่าจะเป็นเรื่องที่สร้างรายได้ให้กับธุรกิจเกิดใหม่มากกว่า เพราะด้วยยอดขายขนาดนี้ ผู้ค้า Social ยังรอผู้ช่วยทางธุรกิจ เช่นระบบบิล และขนส่งอยู่
สรุป
Social Commerce คงเป็นฐานหลักของ E-Commerce ในฝั่งค้าปลีกสินค้าต่างๆ ในประเทศไทยไปอีกระยะหนึ่ง และคงต้องรออีกซักพัก ผู้บริโภคในไทยถึงจะก้าวสู่การซื้อสินค้าออนไลน์แบบปลอดภัย 100% แต่ถ้าอยากให้เร็วขึ้น หน่วยงานรัฐก็มีส่วนในการยกระดับเรื่องนี้ ผ่านการดึงร้านออนไลน์ต่างๆ มาขึ้นทะเบียน พร้อมกับสร้างแพลตฟอร์มกลางเพื่อช่วยกันตรวจสอบ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา