วรวุฒิ อุ่นใจ ผู้ก่อตั้ง Officemate อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) และ อดีตนายกผู้ค้าปลีกไทย กล่าวในหัวข้อ Next Trends 2023 ทางสว่าง SME ที่ต้องขยับตัว ผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิง ‘โซอี้ Digital Shortcut’ ต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่กระทบยังประเทศไทย ในปี 2566 โดยในภาพรวม จะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิดที่เกิดขึ้นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงสถานการณ์สงครามรัสเซีย–ยูเครน ที่ยังไม่มีท่าทีผ่อนคลาย
จากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นถือเป็นวิกฤตที่กระทบยังภาคธุรกิจเอสเอ็มอีไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยในปี2566 ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่หากมองปัจจัยบวกของไทยยังได้รับการสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวของประเทศที่ทยอยกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่กลางปี 2565 ที่ผ่านมา ถึงขณะนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังไทยมากกว่า 11 ล้านคน
“ในปี2565 ไม่ว่าจะทำธุรกิจใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว คาดจะมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นตาม ด้วยภาคการท่องเที่ยวของไทยจะมีความร้อนแรงมากขึ้น ด้วยไทยยังคงเป็นเดสติเนชันการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอาการที่เรียกว่า Bangkok Blue ที่เกิดขึ้นกับชาวต่างชาติ แถบยุโรป แคนาดา ที่มีอาการไข้คิดถึงกรุงเทพ หลังจากมาเที่ยวและกลับไปบ้าน” วรวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ จากทิศทางดังกล่าว มองว่าประเทศไทย สามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ผ่านการบริโภคภายในประเทศทั้งกำลังซื้อจากคนไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางกลับมายังไทยเป็นจำนวนมาก สร้างการจับจ่ายให้เกิดขึ้น เป็นไปตามกลไกของจีดีพี ซึ่งประเทศไทยมีความแข็งแกร่งจากโครงสร้างระบบการให้บริการด้านต่างๆเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติในช่วงก่อนสถานการณ์โควิดได้ถึงเกือบ 100 ล้านคน
จู่โจมความต้องการเชิงลึกกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยว
วรวุฒิ กล่าวว่า ในปี2566 เศรษฐกิจไทยจะได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว กระตุ้นทุกภาคส่วนรวมถึง อุตสาหกรรมไมซ์ ที่จะเข้ามาเชื่อมต่อ หรือที่เรียกว่า MICE Connect ในทุกภาคส่วนธุรกิจ บริการที่เกี่วยข้องเป็นลูกโซ่
พร้อมยกตัวอย่าง แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ที่นอกจากจะมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวแล้ว ขณะเดียวกันยังสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับเมืองได้อีกมหาศาล จากการต่อยอดให้เป็นศูนย์กลางด้านเงินเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวหลัก ที่ส่วนใหญ่เป็นมหาเศรษฐี นายธนาคาร มีไลฟ์สไตล์การใช้ชิวิตหรูหราและเดินทางมาบ่อยครั้ง ทำให้เมืองต้องพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกมารองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวไทย อย่างเกาะภูเก็ต สามารถนำแนวคิดลักษณะนี้มาปรับใช้ได้ด้วยเช่นกัน
โดยในปี 2566 ยังจะเป็นปีแห่งการปรับเปลี่ยนผู้ประกอบการไทยต้องเข้าไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นเพื่อให้ทันกับความต้องการของลูกค้ายุคใหม่ ที่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีในช่วงการแพร่ระบาดโควิดที่ผ่านมา ทั้งการสั่งอาหารผ่านบริการฟู้ดเดลิเวอรี การซื้อสินค้าบริการออนไลน์ เป็นต้น โดยคนไทยยังติดอันดับหนึ่งในห้าของโลกที่มีการจับจ่ายสินค้าออนไลน์มากที่สุด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางรอดของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ด้วยเช่นกัน
ขณะที่เอสเอ็มอีไทย มีจุดแข็งด้านการผลิตที่แข็งแกร่ง แต่ยังติดกับดักด้านนวัตกรรมสินค้าและการตลาดช่องทางออนไลน์ ซึ่งแตกต่างกับผู้ผลิตสินค้าในประเทศจีนที่มีระบบการค้าครบวงจร รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซออนไลน์ในประเทศเอง อาทิ เถาเป่า อาลีบาบา ฯลฯ ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศ ถือเป็นการบายพาสธุรกิจค้าปลีกทั้งระบบของจีน ซึ่งกระตุ้นการบริโภคได้ในภาพรวม ด้วยการให้ทุกคนสามารถทำการค้าขายออนไลน์ และก้าวข้ามกับดับความยากจนได้
เอสเอ็มอียุคใหม่ข้อมูลต้องแน่นและแม่นยำ
วรวุฒิ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เอสเอ็มอีไทยยุคใหม่ ยังต้องให้ความสำคัญต่อการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลด้านต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์บริการให้ตรงตามความต้องการลูกค้าให้มากขึ้น ด้วยจากนี้ไป ข้อมูลจะเป็นทรัพย์สินสำคัญในการทำธุรกรรมต่างๆในอนาคต โดยเฉพาะ Data Transaction ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ธุรกิจรับรู้เทรนด์ความต้องการของลูกค้าที่จะเกิดขึ้นในระยะต่างๆ เพื่อคาดการณ์การผลิตสินค้าบริการออกมารองรับ
โดยจากนี้ไปจะได้เห็นการนำข้อมูลมาร่วมวิเคราะห์การทำตลาดแบบเฉพาะเจาะจงรายบุคคลมากขึ้น หมดยุคยิงกราดแล้วด้วยปืนกลแล้ว แต่จะเปรียบเสมือการใช้สไนป์เปอร์ มาเจาะแต่ละรายตัวลูกค้าแทน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางการตลาดและการขายที่แม่นยำมากขึ้น
ทบทวนสินค้าบริการแล้วเพิ่มมูลค่าฝ่าวิกฤต
อย่างไรก็ตามในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยที่ทั่วโลกจะต้องเผชิญหน้าในปี2566 ทำให้เอสเอ็มอี มีความยากลำบากมากขึ้นไปอีก ซึ่งการจะทำมาค้าขายให้มีความคล่องตัวได้นั้น นอกจากการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ แล้ว ยังจะต้องย้อนกลับมาถามว่าสินค้า บริการของตัวเองนั้นมีดีและแตกต่างไปจากคู่แข่งในตลาดเดียวกันด้านใด
โดยประการแรก คือ หาวิธีการสร้างการรับรู้สินค้าในกลุ่มเป้าหมายให้ได้ และใส่นวัตกรรมสินค้าเข้าไป ซึ่งปัญหาหลัก 80% ของเอสเอ็มอีไทย คือ คุณภาพสินค้า ส่วนลำดับถัดไป คือ การทำตลาด (Marketing) เพื่อทำให้ลูกค้ารู้จักสินค้าให้ได้มากที่สุดผ่านช่องทางหรือแพลตฟอร์ม ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง
“ช่วงวิกฤตแบบนี้ทุกคนต้องเหนื่อยกว่าช่วงปกติหลายเท่าตัว อย่างเช่นหากขายข้าวเหนียวห่อหมูปิ้งธรรมดาเหมือนๆกับเจ้าอื่นทั่วไป ก็ต้องไปหาวิธีทำยังไงให้อร่อยแบบกินพร้อมกับข่าวเหนียวถือมือเดียวได้ อันนี้ก็ต้องต้องลองผิดลองถูกก่อน ใช้ความขยันเป็นพิเศษแต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็ไม่รอด” วรวุฒิ กล่าว
ตีโจทย์การตลาดใหม่ ให้แตก
สำหรับเทรนด์ธุรกิจในปี 2566 จะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม และ เวล บีอิง (Well Being) ซึ่งเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีจะปรับตัวไปในทิศทางใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าสามารถตีโจทย์สินค้า บริการเดิมที่มีอยู่แตกหรือไม่ หรือตรงกับความต้องการตามกระแสที่เกิดขึ้น ซึ่งการจะทำธุรกิจใดๆก็ตามถือว่าดีทั้งหมด แต่สุดท้ายคำตอบอยู่ที่การหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรมากกว่า ด้วยจะสะท้อนออกมาเป็นภาพรวมทั้งหมด เช่น การทำร้านกาแฟ เครื่องดื่มมีรสชาติดีหรือไม่ ร้านตกแต่งงบรรยากาศเป็นอย่างไร ซึ่งในปี2566 นี้จะมีทั้งธุรกิจรุ่งและร่วง
เอสเอ็มอีทำบัญชีเดียวช่วยธุรกิจรอด
วรวุฒิ กล่าวว่าอีกหนึ่งเคล็ดลับทำธุรกิจเอสเอ็มอีให้ประสบความสำเร็จ คือ เจ้าของธุรกิจควรให้ความสำคัญกับระบบัญชี โดยเฉพาะการจัดทำบัญชีเดียวเพื่อแสดงรายรับรายจ่ายของธุรกิจที่เกิดขึ้นตามจริง เพื่อสะท้อนต้นทุนการดำเนินงานของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งจะเป็นผลดีกับธุรกิจมากกว่า รวมไปถึงการจดรายการใช้จ่ายด้านต่างๆทั้งส่วนตัวและทางธุรกิจ โดยตัดทิ้งค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นออกไป ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งวิธีลดต้นทุนและช่วยให้ธุรกิจประคับประคองไปได้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา