วิเคราะห์สตาร์ตอัพดาวรุ่ง Snapchat รวบอำนาจที่ผู้ก่อตั้ง อาจเป็นปัญหาในระยะยาว

ในที่สุดเศรษฐีหนุ่มรุ่นเยาว์ Evan Spiegel และ Bobby Murphy ผู้ก่อตั้งโซเชียลมีเดียสุดฮิตของสหรัฐฯ Snapchat ก็ยกระดับบริษัทของตนขึ้นอีกขั้น ด้วยการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น IPO เมื่อต้นเดือนมีนาคม ขายหุ้นในราคา 17 ดอลลาร์ต่อหุ้น สามารถระดมทุนได้ถึง 3,400 ล้านดอลลาร์ เรียกได้ว่ากำลังอยู่ในขาขึ้นแบบสุดๆ

Evan Spiegel ผู้ก่อตั้ง Snapchat
ที่มาภาพ:วิกิพีเดีย

Snapchat มียอดผู้ใช้ตอนนี้ 158 ล้านคนแล้ว โดยเฉลี่ยผู้ใช้เปิดแอพวันละ 18 ครั้ง ถือเป็นโซเชียลมีเดียที่กำลังมาแรง ส่วนจะแซงหน้า Facebook ได้หรือไม่ก็ยังไม่อาจรู้ได้ (รู้แต่ว่า Facebook ก็ลอกเลียนแบบฟีเจอร์ของ Snapchat ไปใช้ในแพลตฟอร์มตัวเองด้วย)

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ The Guardian มองการบริหารธุรกิจสไตล์ Snapchat ว่าจะเป็นปัญหาในระยะยาว เพราะบริหารแบบรวมศูนย์ และอำนาจการตัดสินใจ เปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ ขึ้นตรงต่อผู้ก่อตั้งสองคนนี้เท่านั้น ยกเว้นแต่พวกเขาจะลาออก เสียชีวิต หรือไม่ก็ขายหุ้นที่ถือครองอยู่ 70% ออกไป

The Guardian จึงมองว่าผู้ก่อตั้งสองคนนี้ เปรียบได้กับ “ราชา” หรือ “ชนชั้นสูง” แห่งโลกไอที (techno-aristocratic) ไม่ต่างอะไรจากระบบการปกครองในยุคกลางของยุโรป

The Guardian มองว่าแนวทางบริหารแบบนี้ไม่ยุติธรรมต่อผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้นรายอื่น เพราะแม้จะเป็นผู้ก่อตั้ง ก็ไม่มีอะไรมายืนยันว่าจะสามารถบริหารจัดการคน และนำคนเก่งมาทำงานต่อยอดธุรกิจได้เสมอไป

The Guardian ยังระบุถึงนักลงทุนในซิลิคอนวัลเล่ย์อีกด้วยว่า หูเบาเกินไปหรือเปล่า? ที่จะทุ่มเทเงินมากมายให้บริษัทไอทีเหล่านี้ ไม่เพียงแค่กรณี Snapchat ยังรวมถึงบริษัทอย่าง Google, Facebook และ Alibaba บริษัทเหล่านี้เป็นฮีโร่วงการเทคโนโลยีในวันนี้ แต่ไม่มีอะไรการันตีว่าวันพรุ่งนี้ บริษัทเหล่านี้จะยังคงอยู่

หนทางที่ดีที่สุดในการบริหารที่ยั่งยืนคือ ทำให้บริษัทเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เพิ่มการมีส่วนร่วมให้ผู้ถือหุ้น ให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิ์ยับยั้งการตัดสินใจด้านนโยบาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีส่วนร่วมในการยับยั้งการใช้จ่ายของผู้บริหาร ในทางตรงกันข้าม หากบริษัทนั้นไม่มีส่วนร่วมของผู้ถือหุ้นในการตัดสินใจ อาจนำพาไปสู่ความล้มเหลวของบริษัทได้

ที่มา : The Guardian 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา