สินมั่นคงคือ ‘หลุมดำ’ ของวงการประกันภัย ทำชีวิตคนเหมือนการพนัน

วานนี้ ศุกร์ที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา เกิดประเด็นร้อนที่เป็นประเด็นใหญ่ในวงการประกันภัยที่สะเทือนต่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชนที่ทำประกันภัย หลังจากที่สินมั่นคงประกันภัยประกาศยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโครโนาแบบ เจอ จ่าย จบ โดยให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นสุดความคุ้มครองทั้งฉบับ

การประกาศดังกล่าวทำให้คนทั่วไปที่ซื้อประกันภัยเป็นกังวล ทั้งสำหรับผู้ที่ซื้อจากแบรนด์สินมั่นคงประกันภัยและผู้ที่ซื้อประภันภัยจากแบรนด์อื่นเนื่องจากกังวลว่าแบรนด์ที่ตัวเองซื้ออยู่ จะออกมาประกาศเช่นนี้เป็นรายต่อไปหรือไม่?? แต่ในที่สุด คปภ. ก็ได้ออกประกาศห้ามทัพ หลังอลหม่านกันพักใหญ่ ว่าให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทสำหรับกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19

เรื่องนี้ยังไม่มีท่าทีใดๆ จากสินมั่นคง ทาง Brand Inside ได้ขอสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องอยู่ในวงการประกันภัยท่านหนึ่ง มาดูกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหลังสินมั่นคงประกันภัยประกาศ เสียงตีกลับจากสังคมในช่วงที่โควิดระบาดอย่างหนักหน่วง เราจะมีทางออกเรื่องนี้อย่างไร


หลังจากที่ สินมั่นคงประกันภัยประกาศยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโครโนาแบบ เจอ จ่าย จบ โดยให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นสุดความคุ้มครองทั้งฉบับ เมื่อล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เอาประกันได้รับหนังสือเป็นต้นไป โดยบริษัทจะคืนค่าเบี้ยประกันที่รับมาแล้วแก่ผู้เอาประกันให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับ การยกเลิกกรมธรรม์นี้ไม่มีผลต่อกรมธรรม์อื่น ลูกค้าไม่สามารถเปลี่ยนหรือย้ายแผนประกันสุขภาพอื่นๆ ได้อีก เนื่องจากบริษัทได้หยุดขายประกันโควิดทุกแบบแล้ว

ประเด็นเรื่องที่บริษัทประกันภัยคำนวณผิดพลาด ความเสียหายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าอย่างไร พีระศักดิ์ นันทะจันทร์ (เบล) ผู้จัดการขายประกันชีวิตแห่งหนึ่ง ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องปกติที่ลูกค้าจ่ายเงินไปแล้ว บริษัทควรจะคุ้มครอง ถือเป็นความผิดพลาดของบริษัท ลูกค้าไม่ผิด ถ้าลูกค้าแถลงข้อมูลอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อมูล บริษัทสามารถบอกเลิกสัญญาได้ แต่สถานการณ์อย่างนี้เรียกว่า บริษัทรับประกันด้วยความประมาท เลินเล่อ รับลูกค้าโดยไม่ประเมินว่ามีความสามารถในการแบกรับความเสี่ยงได้เท่าไร

พีระศักด์เล่าว่าโดยปกติจะต้องมีการคำนวณถึงกรณีที่เป็นผลลบมากที่สุดว่าบริษัทจะรับความเสี่ยงได้เท่าไร ถ้าบริษัทได้ reinsurance ต้องแบ่งพอร์ท เพื่อกระจายความเสี่ยง เวลาเกิดเคส ทุกบริษัทจะประเมินความเสี่ยง แต่ละบริษัทจะมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยและ risk management ซึ่งมีบทบาทที่ต้องคำนวณการรับประกันภัย เหตุการณ์เช่นนี้เรียกว่าเป็นความประมาทเลินเล่อในการรับประกัน 

สถานการณ์เช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่ากำลังอยู่ในสถานการณ์ขาดทุนอย่างหนัก

พีระศักดิ์วิเคราะห์สถานการณ์ว่า ณ วันที่ประกาศเช่นนี้แสดงว่าขาดทุนแล้ว แบรนด์เสียหายแล้ว ต้องมีการประเมินว่าต้องทำแบบนี้แล้ว เป็นเรื่องของฝ่ายบริษัทสินมั่นคงฝ่ายเดียว ซึ่งบริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิตอยู่ภายใต้ คปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ดังนั้น คปภ. ต้องมีสิทธิฟันธงว่าจำเป็นต้องจ่ายหรือไม่ ตอนนี้ คปภ. เริ่มเคลื่อนไหวว่า อย่างไรก็ต้องจ่ายหรือต้องแสดงความรับผิดชอบ

หลักการที่ถูกต้องคือบริษัทซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยต้องออกมารับผิดชอบเพราะรับประกันไปแล้ว ถ้าทุนในบริษัทไม่พอ ต้องระดมทุนเพิ่ม กรณีที่เป็นบริษัทมหาชน หรือกู้ยืมเงินเพื่อชดใช้ลูกค้า เมื่อบริษัทสินมั่นคงประกาศแจ้งยกเลิกกรมธรรม์ก็ทำให้ลูกค้ารายอื่นเริ่มกังวลว่าจะมีบริษัทอื่นทำเช่นเดียวกัน

พีระศักดิ์ระบุว่า เขาเคยขายประกันภัยของสินมั่นคงมาก่อน กลยุทธ์ของสินมั่นคงคือ dump ราคาขาย สู้สุด กดราคาจนต่ำ แข่งขันเพื่อเอาชนะ กรมธรรม์ เจอ จ่าย จบนี้ถือว่าดีที่สุดในสายตาผู้บริโภค ปัญหาคือผลิตภัณฑ์ดี แต่บริหารจัดการไม่ได้เลย ไม่ได้ตั้งเป้าว่ารับได้กี่ราย รับลูกค้ามาเรื่อยๆ จนตอนนี้คนเคลมเยอะเกินไป รับไม่ไหว เรียกว่าดัมป์สู้ตลาดจนรับไม่ไหว เหมือนการเล่นหวย จนเจ้าอื่นอั้นตัวเลขแล้ว แต่นี่ปล่อย บริษัทตอนนี้ก็เหมือนประกันแชร์ ซึ่งขนาดบริษัทสินมั่นคงนี้ถือว่าเป็นแบรนด์ระดับกลาง แต่เล่นใหญ่เกินตัว สุดท้ายเสียความเชื่อมั่น ถ้าวันนี้ไม่ออกมารับผิดชอบ โอกาสที่อยู่รอดคงจะยาก 

หลังจากสินมั่นคงออกประกาศได้ไม่นาน บริษัทวิริยะประกันภัยก็ประกาศยกเลิกการรับประกันการต่ออายุแบบประกันโควิด ทุกแบบ ทุกแผน มีผลตั้งแต่ศุกร์ที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมาทุกช่องทางการขาย โดยประกาศว่าไม่ได้ยกเลิกกรมธรรม์ ยังคงให้ความคุ้มครองจนสิ้นอายุความคุ้มครองในกรมธรรม์นั้นแต่ไม่ต่ออายุประกันและเตรียมออกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน พีระศักดิ์มองว่าวิริยะประกันภัยทำถูกต้องแล้ว เมื่อโควตาเต็มแล้วก็ต้องประกาศทันที 

กรณีสมมติ หากมีกรมธรรม์ราคา 399 บาท เมื่อตรวจเจอโควิดจะได้ 100,000 บาท ตามจริงแล้วบริษัทน่าจะสามารถรับได้แค่ไหน ??

พีระศักดิ์เล่าว่า ปกติแล้ว ณ วันที่ออกผลิตภัณฑ์มา ตัวเลขผู้ป่วยโควิดยังไม่เยอะ ทางบริษัทจะต้องเอาตัวเลขผู้ป่วยยังไม่เยอะนี้มาคำนวณว่าจะมากเพียงใดในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับการบริหารของรัฐบาลด้วย ในทางการเงินจะมีการคำนวณ scenario analysis โดย best case scenario กรณีที่ตัวเลขน้อยสุด บริษัทจะได้กำไรเท่าไร 

แบบที่สองคือ worst case scenario มีคนติดโควิดเยอะมาก ตัวเลขเท่าไรที่บริษัทจะรับได้ นี่คือสิ่งที่ผิดพลาด เขาอาจจะคำนวณเรื่อง best case scenario ว่าจะได้เท่าไร อาจจะไม่ได้มอนิเตอร์ตลอดเวลาว่า คนไข้เพิ่มจนรับไม่ไหวแล้ว ควรหยุดรับประกันได้แล้ว จะสามารถรับลูกค้าได้ถึงวันไหนหรืออาจจะปิดก็ทำได้แบบที่วิริยะประกันภัยทำ ไม่ใช่แบบที่สินมั่นคงประกันภัยทำ

หลุมดำที่สินมั่นคงสร้าง กลายเป็นฐานให้หลายแบรนด์เดินหน้าประกาศจุดยืนแบรนด์ เรียกความเชื่อมั่นจากลูกค้า

พีระศักดิ์เล่าว่า ตอนนี้มีประกาศแทบทุกบริษัทแล้ว ลูกค้าโควิดเรารับหมด ยังไงก็เคลมได้เพื่อปกป้องแบรนด์ของเขาเอง สินมั่นคงประกาศเหมือนสร้างหลุมดำให้ตัวเอง ทำให้แบรนด์อื่นก็ออกมาประกาศปกป้องแบรนด์ของตัวเองด้วย

ถ้าให้พูดในฐานะที่ขายประกันสุขภาพ ประกันเจอจ่ายจบไม่ควรมีด้วยซ้ำ เวลาลูกค้าติดโควิด ตรวจเจอ จ่ายแล้วจบ

ปัญหาเจอ จ่าย จบ นี้ก็เพื่อเข้าถึงลูกค้าฐานรากให้เขามีโอกาสเข้าถึงประกันภัยได้ ถ้าเขาติดโควิด ทำให้เขาไม่สามารถหาเงิน ดำรงชีพได้ เงินประกันก้อนนี้จะช่วยชดเชยรายได้จากสิ่งที่สูญเสีย ปัญหาก็คือ ไทยไม่ได้จำกัดอาชีพที่รับผลกระทบ หว่านไปหมด ทำให้บางคนที่หวังกำไรจากการซื้อประกัน จะเข้ามาซื้อ บางคนส่วนใหญ่ที่ซื้อมีทุกอาชีพ คนที่ควรซื้อควรเป็นเจ้าของกิจการ หรือแรงงานที่ตกงานควรซื้อ คปภ. ควรออกมาควบคุมตรงนี้ว่าอาชีพไหน ควรซื้อไม่ควรซื้อ ซึ่งพีระศักดิ์ก็เข้าใจ คปภ. ว่า มันเป็นโรคระบาดที่ไม่ควรเกิดขึ้น มีแต่ฝั่งบริษัทเองที่ระบุไว้เลยว่าสายการบิน หรือบุคลากรทางการแพทย์เขาจะไม่รับเพราะกลุ่มนี้เสี่ยงโควิด ตอนนี้ไม่มีกลุ่มไหนเสี่ยงแล้วเพราะเสี่ยงทุกคน 

อาจกล่าวได้ว่ามีเจตนาผิดตั้งแต่แรก เจตนาตอนเริ่มทำผลิตภัณฑ์เหมือนกำลังค้ากำไร เหมือนเราระดมแชร์ให้เยอะที่สุดจากโควิดครั้งนี้ แต่กลายเป็นว่าคุมโควิดระบาดไม่ได้จึงทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา สิ่งที่ควรทำคือกำหนดอาชีพที่ควรได้รับความคุ้มครอง ซึ่งตอนนี้แทบทุกบริษัทไม่มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรมธรรม์ประเภทเจอ จ่าย จบแล้ว ไม่มีแล้ว ทุกบริษัทเอง ทั้งฝ่ายคำนวณประกันภัย ฝ่ายคำนวณความเสี่ยงจะดูตัวเลขตลอด จะไม่แบกรับความเสี่ยงแล้ว ลูกค้ากระจายความเสี่ยงมาที่บริษัท เกินกว่านี้ไม่รับแล้ว 

หลังโควิดระบาด ประกันสุขภาพได้รับความสนใจมากขึ้น

พีระศักดิ์มองว่า ตอนนี้ ถ้าไม่ใช่ แพคเกจ เจอจ่ายจบ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็สนใจศึกษาประกันสุขภาพมากขึ้น ซึ่งก็ต้องซื้อ ณ วันที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์เท่านั้น หลังจากที่โควิดระบาด กลุ่มลูกค้าที่สนใจประกันสุขภาพก็เริ่มมีอายุน้อยลง เป็นแบบซื้อประกันสุขภาพ ไม่ใช่ประกันโควิด สามารถส่งเบี้ยประกันตลอดชีวิตได้ ฐานลูกค้าเปิดเยอะขึ้น การตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพก็มีการตัดสินใจซื้อมากขึ้น

ประกันสุขภาพ ช่วยคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล และยังมีประกันสุขภาพแบบเงินชดเชยรายวัน ซึ่งก็มีความแตกต่างจากประกันโควิด เราจะจ่ายตามที่คุณซื้อ นอกจากโควิดก็ยังมีโรคอื่นอีก จริงๆแล้ว การทำประกันเจอ จ่าย จบ ข้าราชการไม่ควรซื้อเพราะรับเงินเดือนเหมือนเดิม อย่างบริษัทเอกชน ถ้าซื้อประกันโควิดควรจ่ายเฉพาะคนที่ติดโควิดแล้ว และอยากให้เน้นที่กลุ่มแรงงาน กลุ่มพ่อค้าแม่ขาย ผู้ได้รับผลกระทบเดือดร้อนจริง เช่น นโยบายที่ไม่ให้นั่งร้านอาหาร อย่างร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านไอติม ร้านขนมถ้วย พอไม่ให้นั่งร้าน ธุรกิจรายย่อยเหล่านี้ไม่สามารถทำเดลิเวอรี่ได้ ก็ควรจะมีประกันสิ่งนี้เพราะรัฐบาลไม่ได้ดูแลประชาชนดีเท่าที่ควร 

คำแนะนำสำหรับกลุ่มที่มีกำลังซื้อ สามารถซื้อประกันสุขภาพได้ ไม่จำเป็นต้องเจอ จ่าย แล้วไม่ต้องจบด้วยเพราะกรมธรรม์สามารถคุ้มครองเรื่อยๆ ทุกปี สามารถซื้อเงินชดเชยรายวันได้เลยกรณีที่ได้รับผลกระทบ มันควรจะเป็นแบบนี้ ตอนนี้ก็ฝากความหวังที่รัฐบาลอย่างเดียวคือการเยียวยาและวัคซีนที่ดีที่สุดซึ่งเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพด้วย ถ้าฉีดได้ครอบคลุมเท่าไร ก็จะหมดปัญหา

ข้อคิดสำหรับคนคิดจะซื้อประกันภัยในยุคโควิด

พีระศักดิ์แนะนำว่า อยากให้เลือกซื้อฝั่งที่เป็นผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าจะเปรียบเทียบเบี้ย ไม่ใช่แบบเดียวกับซื้อประกันรถยนต์ ที่เราเปรียบเทียบเบี้ย อันไหนเบี้ยถูกสุด แต่ถ้าประกันสุขภาพ เราไม่ควรดูเบี้ยถูกสุด ต้องเผื่อไว้ว่าเราอาจต้องเผชิญกรณีที่เราอาจต้องเคลมเยอะ ผู้บริโภคจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลก่อนซื้อกรมธรรม์ ควรเลือกซื้อประกันภัยจากบริษัทที่มีจรรยาบรรณ

**อัพเดต**

ล่าสุด สินมั่นคงประกันภัย ออกมาประกาศเมื่อช่วงดึกที่ผ่านมา.. ขอแจ้งยกเลิก จดหมายบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยไวรัสโคโรนาแบบ เจอ จ่าย จบ หรือ COVID 2 in 1 ที่ลูกค้าได้รับ โดยบริษัทฯ ยืนยันให้ความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยไวรัสโคโรนาดังกล่าวกับลูกค้าตามเดิม บริษัทฯ ขออภัยลูกค้าเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา