SME ไทยต้องสู้กับอะไรในปี 2020 บทสรุปจากงานเสวนารับมือการเปลี่ยนแปลงโดย SCB

SME ไทย กำลังอยู่ท่ามกลางความท้าทาย ทั้งเรื่องการแข่งขันจากทุกทิศ สภาพเศรษฐกิจชะลอตัว การต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี และต้องเรียนรู้ความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างไปจากเดิม

จึงเกิดเป็นคำถามว่า SME ไทยต้องสู้กับอะไรบ้างในปี 2020?

ถ้าสรุปแบบคร่าวๆ ในเบื้องต้นอาจแบ่งได้ 3 ส่วนหลัก คือ เศรษฐกิจ, เทคโนโลยี และผู้บริโภค ซึ่งในงาน Coffee Talk Series ที่จัดโดย SCB ที่ Business Center สยามสแควร์ ซอย 2 ให้คำตอบใน 3 เรื่องนี้จาก 3 ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ จาก SCB EIC, อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ จาก BLOGNONE และ พุทธศักดิ์​ ตันติสุทธิเวท จาก WISESIGHT

เศรษฐกิจน่าห่วง SME ควรปรับตัวรับมือ

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ จาก SCB EIC บอกว่า เวลานี้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกกำลังเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง ทั้งเรื่องสงครามการค้า Trade War สหรัฐ-จีน, Brexit ของสหราชอาณาจักร, วิกฤตความขัดแย้งของกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง, การประท้วงของฮ่องกง หรือ การทดลองนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ ส่งผลให้เศรษฐกิจของโลกน่าจะเข้าสู่สภาวะชะลอตัว

ขณะที่ปัจจัยลบในประเทศไทย พบว่า มีอัตราหนี้สินในครัวเรือนสูง ขณะที่รายได้ภาคการเกษตรลดต่ำลง แต่ค่าเงินบาทกลับแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย หากดูจากสถิติการส่งออกของไทย ตลอดปี 2019 อยู่ในสภาพติดลบมาโดยตลอด

สำหรับ SME เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากสำหรับการปรับตัวและเตรียมรับมือ ยังมีเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี มีระบบ Automation, AI เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกระทบกับการจ้างงาน และรายได้ของลูกจ้าง ส่งผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ส่วนการแข่งขันนั้น SME ต้องเจอกับ Digitization โดยเฉพาะผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศที่มีเงินทุนมหาศาล สามารถปรับตัวได้ดีกว่า ทำให้ในปี 2020 จะเป็นปีที่หนักหน่วง และต้องดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ

ตัวเลขการส่งออกไทย

อย่างไรก็ตาม ดร.ยรรยง บอกว่า ยังมีปัจจัยเสริมที่ดีอยู่เช่นกัน เช่น ไทยยังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี แตกต่างจากวิกฤตปี 40 ต้มยำกุ้ง ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่าจะไม่เกิดวิกฤตซ้ำรอย รวมถึงนโยบายทางการเงินของประเทศ โดยปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5% ยังไม่มีการปรับลด ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาต่ำสุดอยู่ที่ 1.25%

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการเมกะโปรเจค โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการลงทุน EEC และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ

เงินบาทแข็งค่า

เทคโนโลยี กับ การปรับตัวของ SME

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ จาก BLOGNONE บอกว่า สิ่งแรกตอนตื่นนอนและสิ่งงสุดท้ายก่อนเข้านอน คนส่วนใหญ่จะหยิบมือถือขึ้นมา และแอพพลิเคชั่นส่วนใหญ่ที่มีการใช้งาน ไม่ใช่แอพจากไทยเลย แต่มาจากอเมริกา, ญี่ปุ่น, เกาหลี หรือ จีนทั้งนั้น เช่น Facebook, LINE, Instagram, Google หรือ YouTube

นี่คือสิ่งงที่แสดงว่า ไทย ไม่สามารถต่อต้านคลื่นเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามาจากต่างประเทศได้ ซึ่งรวมถึงบริการต่างๆ จากต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทย เช่น Lazada, Shopee, JD Central ที่เป็นกลุ่มทุนจากจีน หรือ Grab, GET, Kerry Express ก็มาจากต่างประเทศด้วย

เวลานี้ พรมแดนสุดท้ายของบริการที่ไทยยังรักษาไว้ได้ คือบริการธนาคาร ซึ่ง SCB เป็นหนึ่งในธนาคารที่ปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ กระโดดเข้ามาพัฒนาบริการจนมีลูกค้าอยู่หลายล้านรายในปัจจุบัน แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีคู่แข่ง เช่น Alipay, Rabbit LINE Pay ก็มีให้บริการอยู่เช่นเดียวกัน

หากเปรียบเทียบแล้ว เหมือนกับอดีตสมัยยุคซามูไรในประเทศญี่ปุ่น ที่ชาติตะวันตกนำเรือดำน้ำมาปิดน่านน้ำ ญี่ปุ่นสมัยนั้นเลือกที่จะพัฒนาระบบทหารเรือ ต่อเรือเอง เพื่อให้ทัดเทียมกับชาติตะวันตก จนในที่สุดกองทัพเรือญี่ปุ่น สามารถเอาชนะและยิ่งใหญ่ได้

สำหรับประเทศไทย ธุรกิจ SME ที่อ่านเกม ปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น JIB ร้านขายสินค้าไอที ที่แต่เดิมเปิดหน้าร้านหลายสาขาทั่วประเทศ​ เริ่มทำระบบขายสินค้าออนไลน์ และพัฒนาการจัดส่งด้วยตัวเอง จนสามารถส่งในเขตกรุงเทพได้ตลอด 24 ชั่วโมง และยังมีส่งด่วนภายใน 2-3 ชั่วโมงด้วย

หรือในธุรกิจก่อสร้าง ที่แต่เดิมมีขายเฉพาะหน้าร้าน มีร้าน One Stock Home ได้เริ่มต้นพัฒนาเว็บไซต์ และทำระบบขายสินค้าออนไลน์ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ปรับตัว จนสามารถรบออเดอร์จากลูกค้าในหลากหลายจังหวัด คำถามที่ SME ไทยต้องถามตัวเองคือ โลกไปไกลขนาดไหนแล้ว และจะปรับตัวอย่างไรให้ทันโลก

เข้าใจผู้บริโภค เข้าใจการทำตลาด

พุทธศักดิ์​ ตันติสุทธิเวท จาก WISESIGHT บอกว่า การทำตลาดในยุคปัจจุบันแตกต่างไปจากเดิม เครื่องมือสำคัญที่ต้องมี ประกอบด้วย Data, Insight, Personalized, Experience และ Be Real

4 ส่วนแรกเกี่ยวข้องกับ “ข้อมูล” ทั้งหมด คือ ต้องมีข้อมูล ต้องวิเคราะห์หาความต้องการที่แท้จริง ต้องเข้าใจความต้องการนั้น และต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีให้เกิดขึ้น ทำให้รู้ว่าผู้บริโภค คิดอะไร และ ทำอะไร นำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ

SME หลายรายรู้ว่า ผู้บริโภคทำอะไร แต่ไม่รู้ว่าคิดอะไร ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์

SCB Business Center สยามสแควร์ ธนาคารทดลองบริการ 24 ชั่วโมง ครั้งแรกในไทย

อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ของ SCB บอกว่า SCB มีพื้นที่ของธนาคารในหลายๆ สาขา ที่สามารถพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้มากขึ้น โดยครั้งนี้ใช้สาขาสยามสแควร์ ซอย 2 พัฒนาเป็น Business Center เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ 24 ชั่วโมงเป็นแห่งแรก

“แนวคิดคือ เวลาปกติ SME ก็ทำงาน ไม่สะดวกมาใช้บริการธนาคาร ดังนั้นจึงเกิดเป็น Business Center ที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง ไม่ว่า SME จะมาเวลาไหน SCB สแตนด์บายพร้อมให้บริการเสมอ”

นอกจากนี้ การร่วมมือกับ Class Café พัฒนาเป็นพื้นที่ Co-Working Space ภายใต้ชื่อ CLASS.SCB มีกาแฟให้บริการมานั่งทำงานได้ รวมถึงพันธมิตรชั้นนำอื่นๆ มาพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านธุรกิจ เพื่อให้ Business Center เป็น One Stop Service มาที่เดียวมีครบทุกอย่าง เพื่อให้ SME เลือกใช้ SCB เป็นธนาคารหลัก

สำหรับลูกค้าของ SCB สามารถติดตามข่าวสารจาก SCB Business Center เพื่อเข้าร่วมงานเสวนาให้ความรู้ หรือมาเพื่อใช้บริการธุรกรรมต่างๆ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Branded Content เป็นบทความที่ได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์