ทำธุรกิจอย่างไรให้อยู่รอด? งานวิจัย TMB ชี้ 7 พฤติกรรมของ SME ที่ทำให้ธุรกิจเจ๊ง

บ่อยครั้งที่เราเห็นร้านกาแฟ ร้านอาหารหรือร้านขายของผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่ไม่นานก็ปิดตัวไป สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) บอกว่า 5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีธุรกิจเกิดใหม่ 70,000 รายต่อปี แต่มีแค่ 50% ที่ผ่านปีแรกไปได้ และปีที่ 2 มีธุรกิจประมาณ 10% ที่ต้องปิดกิจการไป ทำไมธุรกิจ SME ถึงเจ๊งกันเยอะขนาดนี้?

TMB เปิดผลวิจัย 7 พฤติกรรมของ SME ที่ทำให้ธุรกิจเจ๊ง

ชมภูนุช  ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย บอกว่า จากข้อมูลของ สสว. ทีเอ็มบีจึงลงสำรวจ SME ในไทย มาวิเคราะห์จนได้บทสรุปในหัวข้อ ‘7 หลุมพรางของ SME ที่ทำให้ธุรกิจไม่ไปถึงฝั่งฝัน’ ได้แก่

  1. ใช้เงินทุนโดยไม่วางแผน SME กว่า 84% ใช้เงินเก็บส่วนตัวหรือของครอบครัวมาเริ่มทำธุรกิจ ซึ่งถ้าธุรกิจผิดพลาดก็จะกระทบไปถึงครอบครัว ในขณะที่อีก 27% เริ่มทำธุรกิจจากการใช้สินเชื่อและการกดเงินสดจากบัตรเครดิตซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่สูง อาจไม่คุ้มกับกำไรธุรกิจหลังจากหักดอกเบี้ย
  2. ทำธุรกิจโดยไม่มีแผนธุรกิจ 72% ของ SME ไม่เคยทำตามแผนธุรกิจ (ไม่ว่าจะวางแผนธุรกิจไว้หรือไม่) เพราะแค่แก้ปัญหารายวัน ปัญหาเฉพาะหน้าก็หมดเวลาแล้ว จึงส่งผลกระทบต่อแผนการเติบโตในระยะยาว

    (เนื้อหาในคลิป แจ๊ค หม่า บอกว่า เขาไม่มีแผน แต่พนักงานของเขาต้องมีแผนที่ดีมากๆ)

  3. SME ใช้ ‘กระเป๋าธุรกิจ’ และ ‘กระเป๋าส่วนตัว’ เป็นกระเป๋าเดียวกัน โดย 67% ของ SME ใช้เงินส่วนตัวและเงินธุรกิจปนกัน เช่น ให้ลูกค้าโอนค่าของเข้าบัญชีส่วนตัว แต่จำไม่ได้ว่าเงินตัวเองมีเท่าไร เมื่อไม่ได้ตั้งเงินเดือนตัวเองไว้ ในบัญชีมีเงินเท่าไรก็ดึงมาใช้ส่วนตัวโดยไม่ได้จด หรือทำบัญชีไว้ ทำให้ไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริงส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาว
  4. ยอดขายสูง…แต่อาจไม่กำไร จากผลการสำรวจของทีเอ็มบี บอกว่า 37% ของ SME เคยทำพฤติกรรมที่เสี่ยงในการขายของขาดทุน เช่น ลดราคาสินค้าแต่ไม่ได้ดูต้นทุน ไม่ใส่เงินเดือนตนเองในต้นทุนสินค้า ตั้งราคาขายสินค้าให้สูงวัตถุดิบคือกำไร ฯลฯ ซึ่งจริงๆ แล้ว SME ควรทราบต้นทุนที่ถูกต้องและครบถ้วนให้เห็นกำไรจริงของธุรกิจ
  5. ทุ่มเวลากับการผลิต จนไม่มีเวลาให้การตลาด 87% ของ SME ไม่ให้เวลากับการตลาด จึงพลาดโอกาสสร้างจุดเด่น และความแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งขั้นตอนดำเนินธุรกิจของ SME จะแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ
    1.) กระบวนการผลิต ได้แก่ การจัดหาวัตถุดิบ การบริหารสต็อคสินค้า การสรรหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเสริมทัพ การผลิตและการบรรจุ
    2.) งานสำนักงาน ได้แก่ การทำบัญชี การเงินและภาษี การวิเคราะห์ยอดรายรับ-รายจ่าย การบริหารพนักงานและสวัสดิการ การทำเอกสารซื้อ-ขาย
    3.) การขาย การเฝ้าหน้าร้าน การพบปะลูกค้าและการขายสินค้า
    4.) การตลาด ได้แก่ การตลาดและการสร้างแบรนด์
  1. ONE MAN SHOW…NO Stand-in กว่า 70% ของ SME ไทยไม่สามารถหา “คน” ที่ตัดสินใจทางธุรกิจได้แทนเจ้าของ ดังนั้น 49% ของ SME ยอมรับว่าพบปัญหาธุรกิจสะดุด เมื่อตนเอง (เจ้าของ) ไม่อยู่ดูแลหรือขายสินค้าเองจึงส่งผลให้ยอดขาย ออเดอร์ลดลง หรือฐานลูกค้าหายไปทันที
  1. ไม่พร้อมรับมือกับสิ่งใหม่ จากข้อมูลมี SME 38% ที่ยังไม่พร้อมเปิดรับส่งใหม่ ด้วยเหตุผล เช่น กลัวจะมีปัญหาในช่วงเริ่มต้นสิ่งใหม่ ไม่เปิดรับหรือไม่มีเวลาหาข้อมูลสิ่งใหม่ๆ มองว่าธุรกิจที่ทำอยู่นั้นดีอยู่แล้ว ไม่สนใจที่จะเปลี่ยนแปลง ฯลฯ

แล้วต้องทำยังไงให้ธุรกิจอยู่รอด

เมื่อดูจากวงจรธุรกิจ SME ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงเริ่มต้น (Start) ซึ่งเงินทุนและแผนธุรกิจถือเป็นปัจจัยหลักในการตั้งต้น แจ้งเกิดธุรกิจใหม่ ช่วงพัฒนาและช่วงอิ่มตัว (Growth & Mature) เมื่อทำธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพแล้ว ต้องหาทางขยายตัวเพื่อเลี่ยงการถดถอย ทีเอ็มบีสรุปข้อแนะนำ 7 ข้อเพื่อ SME ทำธุรกิจอยู่รอด

  • เลือกเงินทุนและจัดสัดส่วนเงินลงทุนอย่างเหมาะสม คำนึงถึงความเสี่ยงด้วย
  • วางแผนธุรกิจคร่าวๆ ด้วยตนเอง
  • แยกกระเป๋าธุรกิจออกให้เป็นสัดส่วน หรือทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้เห็นเงินเข้าออกอย่างชัดเจน
  • คิดต้นทุนให้ครบ
  • หาเครื่องทุ่นแรงหรือคนมาช่วยดูแลธุรกิจ
  • เริ่มคัดเลือก หรือพัฒนาบุคลากร เพื่อวางรากฐานให้มั่นคง
  • การความรู้เพิ่มเติมเพื่อต่อยอดธุรกิจ ด้วยการเดินงานแฟร์ คุยกับที่ปรึกษา SME ร่วมงานสัมมนา หรือ SME Community ต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนผู้ประกอบการด้วยกัน

สรุป

การทำธุรกิจไม่ใช่แค่กำไรแล้วจะอยู่รอดได้ ยิ่งเป็น SME ที่สายป่านเล็กว่าค่ายใหญ่ จึงต้องวางแผนคร่าวๆ เพื่อการเติบโตในอนาคต ที่สำคัญต้องใส่ใจต้นทุน-กำไร-การเงิน-การตลาด และที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงสร้างบุคลากรที่จะทำให้ธุรกิจเราโตขึ้นต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง