Smart Farming ความหวังและโอกาสของประเทศไทย

smart-farming-9แนวโน้มความต้องการบริโภคผลผลิตทางการเกษตรในโลกเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกคงที่ การทำการเกษตรในอนาคตจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อการเลี้ยงประชากรโลก อีกทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าการเกษตรของไทยอีกด้วย

SCB EIC มองว่า ภาคการเกษตรไทยควรมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ เช่น การแนะนำการปลูกพืชให้เหมาะสมต่อพื้นที่ การสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรเพื่อให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เร็วขึ้น เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีการเกษตรที่จะพัฒนาระบบซึ่งออกแบบเฉพาะให้เหมาะสมกับพันธุ์พืชและสภาวะอากาศของไทยในราคาไม่สูงนัก

smart-farming-4

ในอนาคตความต้องการบริโภคผลผลิตทางการเกษตรและเนื้อสัตว์ต่อคนจะเพิ่มขึ้นมากจากจำนวนประชากรโลก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประมาณการว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นราว 35% เป็น 9.7 พันล้านคนในปี 2050

นอกจากนี้ ด้วยรายได้ต่อคนที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้ประชากรชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรจำนวนมาก เช่น จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเปลี่ยนพฤติกรรมมาบริโภคอาหารที่ดีขึ้น โดยคาดว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ต่อคนจะเพิ่มขึ้นราว 1.2% ต่อปี และการเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะยิ่งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเป็นอาหารสูงขึ้นตามไปด้วย

smart-farming-1

โดยทั่วไปแล้วเนื้อสัตว์ 1 กิโลกรัม ต้องใช้ผลผลิตทางการเกษตรราว 2-7 กิโลกรัม ตัวอย่างที่สำคัญ คือ ภายหลังจากที่ประชากรจีนมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคเนื้อสัตว์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในปี 2015 จีนต้องนำเข้าธัญพืชมาบริโภคในประเทศถึง 40% ซึ่งต่างจากในอดีตที่จีนเคยมีสถานะเป็นผู้ส่งออก

smart-farming-2

การทำการเกษตรด้วยวิธีเดิมจะไม่สามารถให้ผลผลิตที่เพียงพอต่อการเลี้ยงประชากรโลกได้ ด้วยความต้องการบริโภคผลผลิตทางเกษตรที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกของโลกมีแนวโน้มคงที่ เกษตรกรจึงต้องหาวิธีในการเพาะปลูกแบบใหม่เพื่อที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยปัจจุบันการทำการเกษตรทั่วโลกยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก โดยระบบการจัดการน้ำคาดว่ายังมีการใช้น้ำอย่างไม่เกิดประโยชน์ถึง 90% อีกทั้งฟาร์มทั่วโลกกว่า 40% ใช้ปุ๋ยและสารเคมีมากเกินไป ทำให้ดินเสียและส่งผลกระทบต่อผลผลิตต่อไร่ในอนาคต

ขณะที่ฟาร์มบางแห่งก็ใช้ปุ๋ยน้อยเกินไปจนทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ที่ผ่านมาภาคเกษตรได้ใช้การตัดแต่งพันธุกรรมและการผสมข้ามพันธุ์เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่ทนต่อสภาพอากาศและให้ผลผลิตสูง แต่เทคโนโลยีดังกล่าวได้ถูกพัฒนามานานแล้ว และไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการทางด้านผลผลิตทางการเกษตรที่จะเพิ่มขึ้นกว่า 70% ใน 35 ปีข้างหน้าได้

ไทยสามารถเพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตรหากมีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ ภาคเกษตรของไทยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้น้อย จึงทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำ ตัวอย่างเช่น ข้าวโพดของไทยที่มีผลผลิตต่อไร่เพียง 644 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่ข้าวโพดของอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีการนำเทคโนโลยีการเกษตรมาใช้สูง มีผลผลิตต่อไร่สูงถึง 1,691 กิโลกรัมต่อไร่

smart-farming-8

สาเหตุที่ไทยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้น้อย เนื่องจากไทยยังทำการเกษตรแบบแปลงเล็ก การนำเทคโนโลยีมาใช้จึงไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกันปลูกพืชขนาดใหญ่ เช่น การให้ชาวนาทำลายคันนา และทำนาร่วมกัน จะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการพัฒนาการเกษตรของไทยในอนาคต

ในอดีตญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ส่งเสริมการทำนาแปลงใหญ่ โดยให้เงินเป็นแรงจูงใจในการรวมนาในแต่ละขั้น ทั้งนี้ รัฐบาลไทยก็ได้ส่งเสริมวิธีการแบบนี้เช่นกัน แต่ไม่ได้รับการตอบรับมากนัก โดยปัจจุบันมีการรวมกันเข้าร่วมนาแปลงใหญ่ราว 8.4 แสนไร่ สำหรับเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้เพิ่มเติมควรจะพิจารณาถึงผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการลงทุน และภาครัฐควรให้คำแนะนำในช่วงแรก

ภาคการเกษตรของไทยควรมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบทั้งในแง่การแนะนำการปลูกพืชให้เหมาะสมต่อพื้นที่ และการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยภาครัฐควรสนับสนุนงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีการเกษตร เช่น การวิจัยเพื่อหาสภาวะของความชื้นและแร่ธาตุของดินที่เหมาะสมต่อพืชแต่ละชนิด และการกำหนดโซนของพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกพืชแต่ละชนิด

smart-farming-6

นอกจากนี้ รัฐควรให้การสนับสนุนการทำการเกษตรแปลงใหญ่ โดยให้ปัจจัยทางการเงินเป็นแรงจูงใจในการทำการเกษตรแบบแปลงรวมเป็นขั้นๆ ในขณะเดียวกันเกษตรกรควรจะทดลองและพัฒนาการทำเกษตรด้วยวิธีการใหม่ๆ และเปิดรับต่อการเปลี่ยนแปลง

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรควรสร้างความเข้าใจทางด้านเทคโนโลยีและการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเพื่อให้มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยอาจรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้ความรู้ในเรื่องการนำเข้าเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อพันธุ์พืชและสภาพอากาศของไทยมาใช้ เพื่อให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เร็วขึ้น ซึ่งทำให้ธุรกิจเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรทางการเกษตร หรือปุ๋ยเคมีสามารถขยายและต่อยอดธุรกิจได้เพิ่มขึ้น

สตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีการเกษตรมีโอกาสได้รับอานิสงส์จากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคเกษตร โดยสามารถพัฒนาระบบซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์ รวมถึงระบบฐานข้อมูลและการพยากรณ์ที่อาจมีราคาถูกกว่าการนำเข้าและเหมาะสมกับการเกษตรของไทย เช่น การพัฒนาอุปกรณ์วัดระดับแร่ธาตุและความชื้นของดิน และเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนที่เกษตรกรมีอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลโดยใช้แอพพลิเคชั่นได้ในราคาไม่แพงนัก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา