Smart Farm คืออะไร แตกต่างอย่างไรกับการทำเกษตรแบบเดิม

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Smart Farm กันมาบ้างแล้ว แต่ด้วยความที่ Smart Farm นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปมากตามยุคสมัยและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นำมาประยุกต์ วันนี้เรามาดูกันว่า Smart Farm มีความแตกต่างจากการทำการเกษตรแบบปกติอย่างไรบ้าง

Smart Farm คืออะไร 

การทำ Smart Farm คือการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเกษตรตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนไปจนถึงหลังเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตภัณท์ ซึ่งเทคโนโลยีที่นำเข้ามาประยุกต์ใช้ก็มีมากมายเพื่อสอดรับกับความต้องการของเกษตรในแต่ละรูปแบบ นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลีมาช่วยในการเก็บข้อมูลเพื่อใช้คาดการณ์การเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

ปัจจุบันในไทยมีการนำเทคโนโลยีมากมายมาประยุกต์ใช้ในการทำ Smart Farm ไม่ว่าจะเป็น

  • Sensor ต่างๆ ที่คอยตรวจสอบและตรวจจับความผิดปกติของฟาร์ม
  • ระบบตั้งเวลา ที่คอยทำงานกับ Sensor เพื่อลดเวลาในการทำงานซ้ำๆ เช่นการรดน้ำตามเวลา การเพิ่มลดแสงตามเวลาอย่างถูกต้อง
  • การนำเอา GPS และฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับที่ดินมาจัดการเกี่ยวกับพื้นที่เพาะปลูก
  • การนำโดรนเพื่อการเกษตรมาใช้งานในการพ่นยาฆ่าแมลง หรือการตรวจและรังวัดที่ดินให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
  • การเชื่อมต่อทุกระบบผ่านทาง Application บน Smart phone เพื่อตรวจสอบข้อมูลของฟาร์มในวันที่เราไม่อยู่ในพื้นที่ และ จัดการระบบอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นด้วยมือถือ
  • การเก็บข้อมูลของดิน น้ำ ในการทำการเกษตรเพื่อประเมินและหาวิธีการจัดการไม่ว่าจะเป็นค่าความเป็นกรด-ด่าง ของดิน นอกจากนี้ยังมีการนำโดรนเก็บข้อมูลการเดินทางในแต่ละวันของสัตว์เพื่อตรวจสอบย้อนหลังได้หากสัตว์มีการติดเชื้อรวมถึงติดตามเส้นทางการเดินทางเพื่อประเมินพื้นที่ทำปศุสัตว์ของตัวเอง

Smart Farm ต่างจากการเกษตรทั่วไปอย่างไร

การทำการเกษตรแบบเดิมที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้จะอาศัยการใช้ทฤษฎีและหลักการที่สืบต่อกันมา บางหลักการถูกแทนที่ด้วยทฤษฎีการเกษตรใหม่ๆ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงของหน้าดิน การไถกลบและการปรับปรุงที่ดิน ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของผลผลิตตามมาอย่างช้าๆ

นอกจากนี้การเกษตรแบบทั่วไปจะอาศัยข้อมูลที่มาจากภายนอก ไม่ได้มีข้อมูลของพื้นที่ทำการเกษตรของตัวเองว่าการปรับปรุงวิธีการทำการเกษตรจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน การนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้จะช่วยให้เราเข้าใจพื้นที่การเกษตรของตัวเองมากขึ้น รวมทั้งทราบล่วงหน้าได้ว่ามีอะไรที่เข้ามารบกวนการเจริญเติบโตของฟาร์มเรา

การทำ Smart Farm ช่วยให้เราลดเวลาในการทำงานเดิมๆ ​​ซ้ำๆ แล้วปล่อยให้ระบบเป็นตัวช่วยตั้งเวลา คำนวณตามความเหมาะสม หรือสั่งการผ่านมือถือแทนการที่ต้องเข้าไปลงมือทำเอง นอกจากนี้การทำ Smart Farm ยังช่วยเก็บข้อมูลเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจเช่นสภาพหน้าดินที่เปลี่ยนไป การทดลองเปลี่ยนสูตรปุ๋ยมีผลต่อผลิตมากน้อยเพียงใด การใช้ยาฆ่าแมลงสูตรใหม่มีผลทำให้แมลงลดลงหรือไม่

ซึ่งปัจจุบันนั้นมี Startup ที่เกี่ยวกับการทำ Smart Farm หรือ Solution consult ที่ช่วยให้เกษตกรเริ่มทำ Smart Farm ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง

ข้อดีของการทำ Smart Farm

  • ประหยัดแรง ประหยัดเวลา ลดการทำงานที่ซ้ำซาก ปล่อยให้ระบบ  Automation เป็นตัวจัดการแทน
  • ควบคุมคุณภาพของผลผลิตได้ เนื่องจากมีข้อมูลมากขึ้น รวมทั้งสามารถจำกัดและควบคุมตัวแปรหลายๆ ตัวแปรได้
  • ช่วยวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับฟาร์มของเรา รวมทั้งช่วยหาวิธีเพิ่มผลผลิตในอนาคตอย่างยั่งยืนได้ด้วย
  • บันทึกและเห็นข้อมูลภาพกว้างของฟาร์ม เนื่องจากเราได้ข้อมูลมาจากหลากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลดิน น้ำ สภาพอากาศ ความชื้น ความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณน้ำฝน
  • การบินโดรนเพื่อเก็บข้อมูลสภาพพื้นที่ทำการเกษตรอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้เราประเมินผลในช่วงถัดไปของการเพาะปลูกได้ว่าควรขยับขยาย ปรับปรุง เพิ่มเติมในส่วนใดมากขึ้น

ข้อเสียของการทำ Smart Farm

  • เนื่องจากระบบ Smart Farm ต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตเป็นหลักเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกันของ Sensor ต่างๆ ระบบที่ทำงานผ่าน Smart Phone ทำให้มีข้อจำกัดมากในพื้นที่ที่อับสัญญาณอินเทอร์เน็ต อาทจจะต้องมีการติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตเอง ทำให้เกิดความยุ่งยากตามมาในภายหลัง
  • ค่าติดตั้งอาจทำให้ต้นทุนในการทำ Smart Farm ระยะแรกสูงพอสมควร
  • ความเชี่ยวชาญและความเข้าใจในเทคโนโลยีอาจนำมาซึ่งการการใช้งานที่ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจเอาไว้แต่แรก อาจต้องมีการศึกษาและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญพอสมควรก่อนทำการเริ่มทำ Smart Farm

การทำ Smart Farm นั้นสามารถต่อยอดกลายเป็น Smart Agriculture ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยีที่แพร่หลายและคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น เกิด Community ของคนทำ Smart Farm มีการแปลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มากขึ้นและกลายเป็นองค์ความรู้ที่ช่วยพัฒนาวงการการเกษตรไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมตลาดโลกนั่นเอง

Source : krungsri betagro-agro kasikornbank technologychaoban ktc

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา