แสนสุข นำร่อง Smart City โครงการแรกดูแลสุขภาพด้วย IoT

  • แสนสุข สมาร์ท ซิตี้ นำ Internet of Things (IoT) มาใช้ในโครงการนำร่องร่วมกับ Dell, Intel และศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ นำระบบอัจฉริยะมาติดตามดูแลคนไข้สูงอายุ
  • ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินกับคนไข้ อุปกรณ์สวมใส่ จะแจ้งเตือนไปยังบริการพยาบาลทันที
  • การพิสูจน์แนวคิด พัฒนาเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ของโครงการนำร่อง และวางรากฐานสำหรับการนำแอพพลิเคชันอัจฉริยะอื่นๆ รวมถึงโครงการสมาร์ทซิตี้ขนาดใหญ่มาใช้ต่อไป

Saensuk Smart City 2

แสนสุข สมาร์ท ซิตี้ โครงการของเทศบาลตำบลแสนสุข เป็น สมาร์ท ซิตี้ แห่งแรกในประเทศ ต้นแบบของจริงที่ได้มีการพิสูจน์แนวคิดหลากหลายรูปแบบว่าสามารถนำไปต่อยอดการใช้แอพพลิเคชันอัจฉริยะที่มีนวัตกรรมและเชื่อถือได้จริง

โครงการในระยะแรก คือ ติดตั้งระบบอัจฉริยะเพื่อการติดตามดูแลสุขภาพ มุ่งเป้าไปที่การปรับปรุงคุณภาพการดูแลประชากรสูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ ด้วยความร่วมมือของ เดลล์ อินเทล และศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ ซึ่งตามทะเบียนผู้พักอาศัยในพื้นที่ตำบลแสนสุข มีประชากร 46,000 คน เป็นผู้สูงอายุประมาณ 15% และส่วนใหญ่จะอยู่บ้านคนเดียวในระหว่างวัน

ทั้ง เดลล์ และ อินเทล มีผลงานด้านสมาร์ท ซิตี้ ในต่างประเทศ มีโครงการด้าน IoT ขนาดใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกหลายโครงการ การเลือกพันธมิตรทั้ง 2 รายมาเริ่มในโครงการระยะแรกคาดว่าจะสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นเปลี่ยนประเทศไทยเป็นสมาร์ท เนชั่น หรือประเทศอัจฉริยะ

ด้านระบบดูแลสุขภาพแบบอัจฉริยะ (Smart Healthcare) สำหรับผู้สูงอายุโดยปกติ พยาบาลในเขตเทศบาล จะไปเยี่ยมผู้พักอาศัยที่เป็นผู้สูงอายุอยู่เป็นประจำเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของข้อผูกพันในการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โครงการนำร่องจะช่วยให้พยาบาลสามารถดูแลสอดส่องสุขภาพของคนไข้สูงอายุได้จากระยะไกลผ่านระบบคลาวด์ และระบบวิเคราะห์ข้อมูล ด้วยการเชื่อมต่อบลูทูธ

แพลตฟอร์ม IoT ที่ใช้เทคโนโลยีอินเทลเป็นฐาน ให้การเชื่อมต่อแบบเอ็นด์-ทู-เอ็นด์ที่ปลอดภัยตั้งแต่เกตเวย์ตลอดจนอุปกรณ์และดาต้าเซ็นเตอร์ โดยโซลูชันจะช่วยให้ติดตั้งใช้งานจริงได้ง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้นและให้ความสามารถในการบริหารจัดการที่ดีขึ้น

Saensuk Smart City 1

ในช่วงระยะแรกของโครงการนำร่องนี้ ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุจะสวมใส่อุปกรณ์อัจฉริยะขนาดเล็กที่รับส่งสัญญาณบลูทูธได้ เช่นกำไลสวมข้อมือหรือสร้อยคอ โดยอุปกรณ์อัจฉริยะนี้ จะทำการสอดส่องจำนวนก้าว การเคลื่อนไหว ระยะทางในการเดิน และรูปแบบการนอนหลับ อีกทั้งสามารถแจ้งเตือนมายังผู้ดูแลในศูนย์ดูแลสุขภาพ เมื่อระบบตรวจจับกิจกรรมที่ไม่ปกติ เช่น การลื่นหกล้ม หรือมีการกดปุ่มฉุกเฉินขึ้น

ระบบเกตเวย์อัจฉริยะจากเดลล์ ที่ใช้เทคโนโลยีอินเทลเป็นฐาน จะทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่ที่อุปกรณ์อัจฉริยะทำการบันทึกเก็บไว้ทุกวัน โดยจะมีการติดตั้ง Dell IoT Gateway ไว้ที่บ้านพักของผู้ป่วย พร้อมกับติดตั้ง Dell Edge Gateway 5000 Series ในรุ่นสำหรับใช้งานในอุตสาหกรรม ไว้ที่สถานพยาบาลด้วยเช่นกัน เพื่อช่วยในการส่งข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องและมีความถูกต้องแม่นยำ ไปยังไพรเวทคลาวด์ของเดลล์ และส่งต่อไปยังสำนักงานใหญ่ของ

สถานพยาบาลในเขตเทศบาล มีการแสดงข้อมูลอัพเดททั้งเมืองในแบบเรียลไทม์ พร้อมจัดเก็บข้อมูลไว้บนระบบ Converged System ของ Dell PowerEdge VRTX การเข้าถึงประวัติการรักษาของคนไข้ และข้อมูลเรียลไทม์ ช่วยให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์สามารถระบุความจำเป็นเร่งด่วนเฉพาะและแยกแยะวิธีการตอบสนองที่จำเป็นสำหรับกรณีการรักษาฉุกเฉิน โดยช่วยให้บริการพยาบาลในท้องที่ สามารถตอบโจทย์ท้าทายเรื่องบุคลากรด้านการดูแลที่มีอยู่จำกัด ขณะเดียวกันก็ยังสามารถตอบสนองความต้องการด้านการสนับสนุนที่เหมาะสมได้เร็วขึ้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นในเวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉิน

หลังจากที่โครงการนำร่องเสร็จสิ้น ก็จะสามารถนำโซลูชันไปใช้กับแอพพลิเคชันสมาร์ท ซิตี้ อื่นๆ ต่อได้ เช่นกิจกรรมในการบำรุงรักษาและปรับปรุงด้านความปลอดภัยในที่สาธารณะ และท้ายที่สุดก็จะทำให้แสนสุขกลายเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้จากโครงการ IoT เพื่อการดูแลสุขภาพ จะถูกเก็บไว้ใช้สำหรับโปรแกรมอื่นๆ ของแสนสุข สมาร์ท ซิตี้ เช่น ระบบสารสนเทศสำหรับนักท่องเที่ยวบนโมบายแอพฯ ซึ่งจะแจ้งเตือนการจัดงาน บริการต่างๆ รวมถึงข้อมูลอื่นที่น่าสนใจให้แก่นักท่องเที่ยว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา