Skinfood ประกาศปิดหน้าร้านใน Hypermarket ที่เกาหลี หลังรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว

ช่วงนี้เป็นวิกฤติของ Skinfood จริงๆ เพราะล่าสุดถึงกับต้องขอถอนตัวออกจากช่องทาง Hypermarket หลังแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว เพราะยอดขายนั้นทรุดลงทุกวัน

Skinfood // ภาพโดย Michaela den [CC BY-SA 3.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], from Wikimedia Commons

ขาลงที่แท้จริงของ Skinfood

ในอดีต Skinfood เคยเป็นแบรนด์เครื่องสำอางราคาประหยัด (Budget Cosmatic) ที่ได้รับความนิยมติดหนึ่งในสามของแบรนด์ทั้งหมด แต่นั่นมันคงเป็นเพียงแค่ในอดีต เพราะนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ตัวธุรกิจก็มียอดขายที่ลดลงมาโดยตลอด ถึงขนาดขาดทุนจากการดำเนินงานกว่า 1,000 ล้านวอน (ราว 28 ล้านบาท) ก็เคยมาแล้ว

จึงไม่แปลกที่ Skinfood ต้องปรับโครงสร้างธุรกิจอย่างเร่งด่วน พร้อมกับรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายของตัวเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งนี่ก็เป็นที่มาของการหารือกับ Hypermarket ในเกาหลีอย่าง E-mart และ E-Land Retail เพื่อขอปิดหน้าร้าน และส่วนที่จำหน่ายภายในตัวห้าง เพื่อควบคุมต้นทุนในการบริหาร

“เราได้รับคำยืนยันจาก Skinfood แล้วว่าจะปิดหน้าร้าน 22 แห่งภายในเดือนพ.ย. นี้” โฆษกของ E-Land Retail กล่าว ส่วนฝั่ง E-mart นั้นยังอยู่ระหว่างเจรจากันอยู่ ซึ่งการจะนำสินค้าไปจำหน่ายภายใน Hypermarket ก็ต้องจ่ายค่าวางสินค้า และคอมมิชชั่นเป็นเรื่องปกติ แต่หากสินค้าทำกำไรไม่ทันค่าดังกล่าวก็ยากที่จะอยู่ต่อ

หากดูยอดขาย Skinfood ตั้งแต่ปี 2559 จะพบว่าในปีนั้นทำได้ 1.69 แสนล้านวอน (ราว 4,800 ล้านบาท) แต่สิ้นปี 2560 กลับลดลงถึง 25% เหลือเพียง 1.26 แสนล้านวอน (ราว 3,600 ล้านบาท) ซึ่งเหตุผลหลักๆ น่าจะมาจากการแข่งขันที่มากขึ้น ประกอบกับผู้บริโภคในเกาหลีก็หันไปซื้อสินค้าในร้านขายยา และเครื่องสำอางโดยตรงมากกว่า ซึ่งการวางสินค้าจะแตกต่างกับใน Hypermarket

สรุป

คงไม่ใช่แค่ในเกาหลีที่ Skinfood เสื่อมความนิยม เพราะในประเทศไทย และตลาดอื่นๆ ก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน อาจเพราะทิศทางการแต่งหน้าแบบเกาหลีนั้นไม่ได้รับความนิยมเหมือนในอดีต รวมถึงแบรนด์เครื่องสำอางที่มีให้เลือกมากกว่าเดิม ดังนั้นคงต้องจับตาดูว่า Skinfood จะปรับโครงสร้างธุรกิจให้ออกมาเป็นแบบไหนต่อไป

อ้างอิง // The Investor

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา